ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์ ชี้ ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ช่วยเปิดตลาดใหม่
01 มิ.ย. 2567

สนค.วิเคราะห์ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ส่งผลดีด้านการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว และการเปิดตลาดใหม่ เผยปี 66ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 20.1%  แนะเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมเพื่อประโยชน์สูงสุดของไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโอกาสของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ว่า   กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเริ่มแรก ปี 2549 เป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China)ก่อนที่แอฟริกาใต้ (South Africa) จะเข้าร่วมในปี 2553 และเมื่อต้นปี 2567 อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 10 ประเทศขณะที่มีประเทศต่าง ๆ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มมากกว่า 40 ประเทศ

โดยวัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS คือการสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศพัฒนาแล้ว และเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง ประเทศสมาชิกมีการจัดการประชุมและการทำงานร่วมกันในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันด้านเศรษฐกิจและการเงิน

มีการก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาอื่น ๆ และด้านการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีการแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อสร้างสมดุลและลดการพึ่งพาจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเน้นการสร้างความร่วมมือในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

นายพูนพงษ์ กล่าว การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา หากได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่ม คาดว่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในเชิงโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมิติต่าง ๆประกอบด้วย

ด้านการส่งออก โดยประเทศสมาชิก BRICS มีความต้องการสินค้าที่หลากหลายประเภท เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดย ปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 20.1%  ของการส่งออกทั้งหมด ขยายตัว  0.4 %  สวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ชะลอตัวลง1.0 %

โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วน  12% อินเดีย  3.6 %  แอฟริกาใต้   1.2 %  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  1.1%  และซาอุดีอาระเบีย 0.9 %

 4 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 18,510.3 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 19.6%  ของการส่งออกทั้งหมด หดตัว 3.0 % จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างจีนและแอฟริกาใต้ที่ชะลอลงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในของทั้งสองประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติคาดว่าจะช่วยให้การส่งออกไปยังกลุ่ม BRICS กลับมาขยายตัวและส่งเสริมการส่งออกของไทยในภาพรวมต่อไป

ด้านการเปิดตลาดใหม่ การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร โดย ในปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก สัดส่วน 28.3 % ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้น 28.6 ล้านล้านดอลลาร์  เติบโต  5.6%  มากกว่าอัตราขยายตัวของโลกที่ 3.1%  สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก สัดส่วน 45.5%  จากการมีประเทศสมาชิกที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก 2 อันดับแรกอย่างอินเดีย และจีน สัดส่วนเท่ากันที่ 17.8 %  สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินค้ามาก ทำให้ผู้ส่งออกมีโอกาสสูงในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการต่าง ๆ

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การร่วมมือกับประเทศ BRICS อาจเปิดโอกาสให้ไทยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาเครือข่ายคมนาคม การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน  ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม BRICS เพื่อให้ความสนับสนุน
ทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยในปี 2567 NDB ตั้งเป้าที่จะให้กู้เงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าจีนและอินเดียจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย

ด้านการสร้างโอกาสทางการลงทุน นักลงทุนจากประเทศ BRICS อาจเห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย ทั้งในด้านการผลิตการบริการ และการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ

โดยจีน เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงที่สุด ด้วยมูลค่า 159,387 ล้านบาท นอกจากนี้ จีนยังติดอันดับ 1ใน 5 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ตามข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจประเทศไทยของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง การรับจ้างผลิตสินค้า และกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)

ด้านการสนับสนุนการท่องเที่ยว การเป็นสมาชิก BRICS อาจนำไปสู่การลดข้อจำกัดด้านวีซ่า หรือการทำข้อตกลงให้ประชาชนของประเทศสมาชิกเดินทางระหว่างกันได้ง่ายขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศ เทียบเท่านักท่องเที่ยวชาวจีน

โดยในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.61 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และขยายตัวจากปีก่อนถึง 245.31 %

ด้านการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเป็นสมาชิก BRICS จะเปิดโอกาสให้ไทยเข้าร่วมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกัน การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้ไทยมีโอกาสแสดงจุดยืนและมีบทบาทในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนา

“ การเข้าร่วม BRICS ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณา เช่น การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและข้อกำหนดของกลุ่ม การแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกดังนั้น การเตรียมตัวและการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทยในการสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS”นายพูนพงษ์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...