ทั้งนี้ หลังการปิดรับสมัครคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ชุดใหม่ โดยเปิดรับสมัครเมื่อ 8-14 ม.ค. 2561เสร็จสิ้นแล้วเบ็ดเสร็จมี 86 คน ที่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ 19-21 ก.พ.นี้ ให้คณะกรรมการสรรหา เลือกให้เหลือผู้สมควรได้รับการคัดเลือกด้านละ 2 คน เพื่อเสนอรายชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงคะแนนเลือกกรรมการ กสทช. 7 คน
โดยเป็นการเปิดรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกสทช. รวม 7 ด้าน ๆ ละ 1 คน ประกอบด้วย (1) ด้านกิจการกระจายเสียง (2) ด้านกิจการโทรทัศน์ (3) ด้านกิจการโทรคมนาคม (4) ด้านวิศวกรรม (5) ด้านกฎหมาย (6) ด้านเศรษฐศาสตร์ และ (7) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
สำหรับประเด็นที่น่าจับตาคือ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ จะแข่งขันดุเดือดสุด เนื่องจากมีผู้สมัครด้านละ 18 คน รองลงไปคือด้านกิจการโทรคมนาคม 12 คน วิศวกรรม 11 คน ส่วนเศรษฐศาสตร์ กิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง สมัครด้านละ 9 คน
ขณะที่ผู้สมัคร 24 คนมียศทหาร-ตำรวจ และยังมีบรรดาผู้บริหารและอดีตผู้บริหารองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับ “กสทช.” ยื่นใบสมัครเพียบ อาทิ นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อย่างนายไพทูรย์หิรัญประดิษฐ์ และนายจำลอง สิงห์โตงาม พลตรีวิเศษศักดิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน ททบ.5 นายปรีย์มน ปิ่นสกุล อดีตผู้บริหารดีแทค นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตรองผู้บริหาร บมจ.ไทยคม
ฟาก บมจ.อสมท มีทั้ง นายวสันต์ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายณภัทร วินิจฉัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และยังมีนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท. โทรคมนาคม (แคท) นายทศพร ซิมตระการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่แคท นายอานนท์ ทับเที่ยง และนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที นายวุฒิดนัย ฐิตะกสิกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที รวมถึงนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตประธานบอร์ด ทีโอที
สำหรับอีกกลุ่มที่ตบเท้ามายื่นใบสมัครไม่น้อย คือ ทีมที่ปรึกษาและอนุกรรมการของกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ได้แก่ นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ นายธนกรศรีสุกใส พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ นายสมชัย ทรัพย์ศิริผล นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ รวมถึง พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตรองผู้บัญชการทหารสูงสุด ที่เป็นคณะทำงานของประธาน กสทช. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี และยังมี 3 รองเลขาธิการ กสทช. ยื่นใบสมัครด้วย ได้แก่ พล.ต.อ.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร นายภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. คงเหลือรองเลขาธิการ 1 คนเท่านั้นที่ไม่ได้สมัคร
นอกจากนี้ยังมีนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร อดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) นายสุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หน่วยงานภายใต้ กทช. และนายสืบศักดิ์ สืบภักดี อดีตผู้เชี่ยวชาญประจำกรรมการติดตามประเมินผลการทำงาน กสทช.รวมถึงอดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นางทรงพร โกมลสุรเดช และนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ใต้สังกัดดีอี
สำหรับขั้นตอนจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการ จะส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ก่อนที่จะเชิญผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อไป
ส่วนกรอบเวลาในการสรรหา กสทช.นั้น ตาม พ.ร.บ.กสทช. ไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องสรรหาให้เสร็จสิ้นภายในเมื่อใด แต่กำหนดว่าแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาไม่เกินเท่าใด ซึ่งคาดว่าราว พ.ค.นี้น่าจะได้บอร์ดใหม่