นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดให้มีโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ 5 ต่อเนื่องจาก จังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี สงขลา และพิษณุโลก ที่เป็นต้นแบบของการจัดกิจกรรมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป
กระทรวงการคลังได้เตรียมการโดยนำส่งรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในจังหวัดจันทบุรี จากฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 6,427 คน และมีมูลหนี้นอกระบบ รวมเป็นเงิน 302.69 ล้านบาท หรือมีมูลหนี้เฉลี่ย 47,097 บาทต่อคน ส่งให้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ติดต่อนำลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายมาเข้าสู่กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ พิจารณาช่วยเหลือด้านสินเชื่อและดูแลฟื้นฟูศักยภาพการหารายได้ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจันทบุรี และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจันทบุรี
ในการนี้ กระทรวงการคลังได้จัดกิจกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ได้รับการต่อยอดการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจรในด้าน การเสริมสร้างวินัยทางการเงินและการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องจุลมณี 1 โรงแรม เคพี แกรนด์ จันทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาทางการเงิน ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) กิจกรรมสาธิตอาชีพ 7 อาชีพ การอบรมหัวข้อ “การจัดทำบัญชีครัวเรือน” โดยวิทยากรจากธนาคารออมสิน การอบรมหัวข้อ “แนวทางการหารายได้เสริม” โดยวิทยากรจาก ธ.ก.ส. กิจกรรมส่งเสริมการออม หัวข้อ “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ” โดยเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ และการบรรยายความรู้เพื่อประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของโครงการบริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ โดยวิทยากรจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ภายในงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้เกียรติมอบนโยบายเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน
โดยเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ได้เสียก่อน ดังนั้น จึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหา
หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติและออกแบบกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ครบวงจร ซึ่งได้รับความร่วมมือ
ในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาคีทุกกระทรวง ทั้งส่วนของการใช้กฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมายและเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ การสร้างให้มีคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด การดูแลฟื้นฟูศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ การจัดให้มีแหล่งเงินทุนทดแทนการกู้ยืมนอกระบบจากธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้รับโอกาสในการมีงานทำ มีความรู้และทักษะอาชีพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการ ทั้งยังได้รับการเติมเงินในบัตรสวัสดิการอีกเดือนละ 100-200 บาท อีกด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบหรือได้รับสินเชื่อไปแล้ว ขอให้ช่วยกันรักษาวินัยในการใช้จ่ายและชำระหนี้ มีการทำบัญชีครัวเรือน สะสมเงินออม และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบ สามารถหลุดพ้นจากปัญหาความยากจน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมกัน มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 5 ราย และ มอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีปัญหาหนี้นอกระบบในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 244 ราย เป็นเงิน 11.42 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ) ณ เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนทั้งในส่วนการรับแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ การสัมภาษณ์ข้อเท็จจริง วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ แก่ประชาชน โดย ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ซึ่งจังหวัดจันทบุรีมีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 57,405 คน และเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองมีจำนวน 12,223 คน ทั้งนี้ การเปิดรับแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ กำหนดให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถไปแจ้งความประสงค์ที่ได้ที่ “ที่อยู่ปัจจุบัน” ที่ได้แจ้งไว้เมื่อคราวลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดเดือนกุมพันธ์ 2561