นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 735 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 400 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 268 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการภายในองค์กร บริการบริหารจัดการด้านการกระจายรถยนต์ในพื้นที่ลานจอดยานยนต์ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 42 ล้านบาท ได้แก่ บริการซ่อมแซม บำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานอุปกรณ์จัดการพลังงาน บริการบริหารจัดการคลังสินค้า บริการตรวจสอบ วิเคราะห์แก้ไขปัญหากระบวนการผลิตเส้นใยสุขอนามัย บริการศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ทางนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริการขายต่อบริการวงจรเช่าและบริการช่องสัญญาณเช่า โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์
3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 146 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางวิศวกรรมด้านการวางแผนออกแบบ สร้างและทดสอบใบครีบกระจายไอเสียก๊าซ บริการออกแบบจัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและตรวจสอบเตาเผาเซรามิค บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้เช่าเรือกักเก็บปิโตรเลียม โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศมาเลเซีย จีน และเนเธอร์แลนด์
4. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 8 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 279 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าจัดหาตลาดในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายเครื่อ
งจักรสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกและสี การค้าปลีกกาวอุตสาหกรรม การค้าปลีกเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิจัย การค้าปลีกอุปกรณ์ติดตามสถานะและการทำงานของยานพาหนะ (GPS Tracking) การค้าส่งเครื่องมือแพทย์ การค้าส่งสิ่งปรุงแต่งอาหาร การค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริม การค้าส่งชุดบังคับเลี้ยวพวงมาลัยรถยนต์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ เยอรมนี และญี่ปุ่น
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Dynamic Compressor ในเครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน และเทคโนโลยี 2D gradient ในเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับการสอบสวนอุบัติเหตุ ระบบการจัดการกับภาวะอันตรายและผลกระทบจากอันตราย และการประเมินความเสี่ยงบนเรือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการแก้ไขปัญหาของเครื่องจักรสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกและสีขณะทำงาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอะไหล่เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในสถานพยาบาล รวมทั้งวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา โดยการเพาะเชื้อแบคทีเรีย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมสำหรับเติมในอาหารสัตว์ โดยใช้เครื่องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (MIR-254)
ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 175 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 535 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 267 เนื่องจากในเดือนมกราคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน และบริการให้เช่าเรือกักเก็บปิโตรเลียม
อนึ่งในเดือนมกราคม 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 15 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 437 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 270 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,302 ล้านบาท