กรณีที่มีผู้ตั้งข้อวิจารณ์เรื่องการบริหารเงินคงคลังของรัฐบาล โดยนำข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 – พฤศจิกายน 2560 เป็นตารางมาเปรียบเทียบ พร้อมกล่าวว่า ความสามารถในการบริหารเงินคงคลังของ คสช. มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จนต้องกู้เงินเพิ่ม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลัง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีงบประมาณรายจ่ายมากกว่าประมาณการรายได้ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่เต็มศักยภาพ โดยการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลดังกล่าวเป็นการขาดดุลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุน ซึ่งการลงทุนภาครัฐจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมของประเทศ ช่วยกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนเพิ่มจากภาคเอกชนด้วย (crowding-in effect)
กระทรวงการคลังจะดำเนินการกู้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ กระแสรายจ่าย ในช่วงระยะเวลาต่างๆ ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมีการวางแผนการกู้เงินและบริหารเงินคงคลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและรอบคอบรัดกุม และเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย
แนวทางในการดำเนินนโยบายการคลังและการบริหารเงินคงคลัง รัฐบาลได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ สภาพคล่องของรัฐบาล และยังเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายทุกประการ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการบริหารเงินคงคลังให้เพียงพอต่อความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลา โดยคำนึงถึงภาระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนในการเก็บรักษาเงินคงคลังที่ไม่ควรจะมีมากเกินความจำเป็น
การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลแบบขาดดุล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง (ในปี 2557 2558 และ 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.9 2.9 และ 3.2 ตามลำดับ) โดยในปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี
ในขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่ผ่านมาอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ เดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 41.76 (ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60) สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป หากภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อให้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงมีนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณสมดุล พร้อมทั้งยังมีการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อเป็นการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และสามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ