สับปะรดนางแลไทยโกอินเตอร์ เจาะตลาดญี่ปุ่นสำเร็จ หลังกองทุน FTA เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพ แนะเทคนิคการรักษาความสด ทำให้ยืดอายุได้นานถึง 7 วัน จนสามารถส่งออกไปขายในตลาดได้เพิ่มขึ้น และแข่งขันกับสับปะรดของคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์และไต้หวันได้ เผยยังสามารถเจาะตลาดจีนและสิงคโปร์ และล่าสุดส่งวางขายในท๊อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสับปะรดนางแลเพื่อการส่งออก ที่ ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยพบว่าหลังจากที่กองทุน FTA เข้าไปช่วยเหลือ เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันในรูปวิสาหกิจชุมชน มีระบบเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเจรจาต่อรองและการกำหนดราคาจำหน่ายได้คุ้มกับต้นทุนการผลิตและมีกำไร รวมทั้งสามารถขยายตลาดส่งออกได้ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในด้านการทำตลาดต่างประเทศ สามารถผลักดันให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสวน ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้สารเคมีให้เป็นไปตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ผลักดันให้รวมกลุ่มทำการผลิตและการตลาดในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสับปะรดนางแลเพื่อการส่งออก” โดยใช้ตราสัญลักษณ์สินค้า “Nang Lae Pine” เป็นโลโก้ของสินค้า ช่วยทำการศึกษาวิจัยด้านการตลาดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในญี่ปุ่น ทำให้ทราบว่าชาวญี่ปุ่นชื่นชอบสับปะรดนางแล ที่มีรูปร่างน่ารัก ผลขนาดเล็ก บริโภคได้หมดในคราวเดียว นำไปเป็นของขวัญได้ พึ่งพอใจซื้อในราคาตั้งแต่ 300 เยนขึ้นไป (ประมาณ 90 บาท)
ขณะเดียวกัน ได้ช่วยพัฒนาเทคนิคและวิธีการจัดการก่อนและหลักเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาผลผลิต ตลอดจนการขนส่งจากไทยไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งมีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการแปรรูปสับปะรดผลสดตัดแต่งพร้อมรับประทานที่สามารถยืดอายุความสดได้นานถึง 7 วัน โดยเนื้อผลสับปะรดยังคงคุณสมบัติและคุณภาพความสดไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้สับปะรดนางแลได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันได้กับสับปะรดที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์และไต้หวันได้
นอกจากนี้ กองทุน FTA ยังได้ช่วยเหลือให้สินค้าสับปะรดผลสดไทยที่ผลิตโดยเกษตรกรสมาชิกมีช่องทางในการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งในลักษณะของรูปผลสดและสินค้าแปรรูป เช่น ท็อฟฟี่ แยม เป็นต้น รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการบริโภคด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบ QR Code ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้าว่าเพาะปลูกและผลิตด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่ตรวจสอบได้ เพราะผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งในระบบเกษตรที่ดีและเหมาะสมของประเทศไทย (GAP) และมาตรฐานในระบบเกษตรที่ดีและเหมาะสมของประเทศญี่ปุ่น (JAS)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กลุ่มเกษตรกรได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการขยายการผลิตไปยังกลุ่มทายาทสมาชิกเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น โดยผลผลิตที่กลุ่มเกษตรกรผลิตได้สามารถส่งจำหน่ายผ่านทาง Tops Supermarket ในรูปของสับปะรดผลสด และผลผลิตบางส่วนได้นำมาแปรรูปเป็นสับปะรดกวน แยม และน้ำสับปะรด จำหน่ายในชุมชนบริเวณใกล้เคียง
ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออก นอกจากการผลิตและส่งออกสับปะรดไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีนและสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด กองทุน FTA ได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยญี่ปุ่นได้ให้โควตานำเข้ากล้วยหอมและสับปะรดสดไทยแบบยกเว้นภาษีโดยเพิ่มโควตาให้ทุกปีตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยในส่วนของสินค้าสับปะรดผลสดไทยที่มีน้ำหนักผลไม่เกิน 900 กรัม (คิดน้ำหนักรวมทั้งผล และมีหรือไม่มีจุกขั้วผลก็ได้) ในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้โควตาภาษีในการนำเข้าประเทศญี่ปุ่นในปีที่ 1 จำนวน 100 เมตริกตัน และทยอยเพิ่มขึ้นปีละ 50 เมตริกตัน จนถึง 300 เมตริกตันในปีที่ 5 คือตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2554 เป็นต้นไป ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีนำเข้าประเทศญี่ปุ่นจากอัตราเดิมร้อยละ 17 ลดลงเป็นร้อยละ 0 (ในโควตา) และยังคงอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 17 สำหรับการนำเข้าสินค้าสับปะรดผลสดที่เกินกว่าโควตาที่ได้รับ (นอกโควตา) ซึ่งในระยะที่ผ่านมา ไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสับปะรดผลสดในลักษณะนี้ได้น้อยมาก แต่หลังจากที่กองทุน FTA ได้เข้าไปช่วยเหลือ สามารถทำให้สับปะรดไทยเจาะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง