ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
ทางหลวงพร้อมสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5
15 ก.พ. 2561

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ว่าปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ และได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนสำหรับการก่อสร้างโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะเสนอของบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป สำหรับโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งประเทศไทย ที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บริเวณกิโลเมตรที่ 123+430 แนวเส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่นาและสวนยาง จุดที่ข้ามแม่น้ำโขงอยู่ระหว่างท่าทรายเซ็นจูรี่และท่าทรายสุวรรณศรี ซึ่งมีความกว้างแม่น้ำโขงบริเวณนี้ประมาณ 700 เมตร โดยแนวเส้นทางส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่ตำบลวิศิษฐ์ บางส่วนผ่านพื้นที่ตำบลบึงกาฬ และตำบลไคสี ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ รวมระยะทางในฝั่งประเทศไทยประมาณ 13 กิโลเมตร และสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 13 บริเวณกิโลเมตรที่ 136+677 รวมระยะทางในฝั่ง สปป.ลาว 3.4 กิโลเมตร ระยะทางรวมตลอดโครงการ 16.34 กิโลเมตร

สำหรับรูปแบบของโครงการเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร โดยจะมีช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตรไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร โดยถนนฝั่งไทยระยะทาง 12.13 กิโลเมตร และถนนฝั่งลาวระยะทาง 2.86 กิโลเมตร รูปแบบสะพานข้ามแม่นํ้าโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางและทางเท้าโดยมีความยาวช่วงข้ามแม่นํ้าโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมอยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว ทั้งนี้ โครงการมีมูลค่าการลงทุนรวม 3,930 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่างานถนนและด่านพรมแดน ฝั่งไทย 1,893 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 780 ล้านบาท งานสะพานฝั่งไทย 660 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 476 ล้านบาท และค่างานควบคุมการก่อสร้างรวม 121 ล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ปริมาณจราจรผ่านเข้า-ออก สะพาน ณ ปี 2560 จำนวน 855 คัน/วัน และจะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งมีความคุ้มค่าต่อการลงทุนก่อสร้างโครงการ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ ประเพณี และวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม โครงการสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) พร้อมโครงข่ายเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya– Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา – สปป.ลาว – สหภาพเมียนมาร์ – ไทย – เวียดนาม เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศในการรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...