นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสรุปรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - พิษณุโลก) ภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมี.ค.นี้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า จากการหารือกับ Mr.Noriyoshi YAMAGAMI รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่น เกี่ยวกับผลศึกษาการสำรวจความเหมาะสมโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) ญี่ปุ่นได้ชี้แจงรายละเอียดการศึกษาเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ เรื่องต้นทุนโครงการ ซึ่งผลศึกษาประเมินมูลค่าลงทุนช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ไว้ที่ 2.76 แสนล้านบาท โดยได้หารือถึงรายละเอียดความจำเป็นหรือไม่จำเป็นในแต่ละส่วนเพื่อลดต้นทุนลง เช่น แบ่งเฟสก่อสร้าง และตัดบางสถานีออก เช่น สถานีอยุธยา, สถานีพิจิตร แต่พบว่า การตัดสถานีออก แม้จะทำให้ต้นทุนลดลงบ้าง แต่ไม่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารที่หายไป ดังนั้นการลดจำนวนสถานีถือว่ามีผลกระทบต่อโครงการ
ส่วนเรื่องความเร็วนั้นยืนยันที่ 300 กม./ชม.ตามมาตรฐานของรถชินคันเซ็น ซึ่งญี่ปุ่นระบุว่า การกำหนดความเร็วกับกับระยะทาง มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้ระบบขนส่งในการเดินทาง เช่น ระยะทาง 500 กม. พบว่า การขับรถยนต์จะรวดเร็วกว่าใช้ขนส่งระบบอื่น กรณีระยะทางเกินกว่า 500-749 กม. จะเป็นระยะที่เหมาะสมกับใช้ระบบรถไฟเดินทางมากที่สุด ดังนั้นกรณีลดความเร็วระบบรถไฟลง จะทำให้ใช้เวลาเดินทางมากขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้ระบบขนส่งอื่นแทน ส่วนระยะทางเกิน 700 กม.ขึ้นไปจะใช้เครื่องบิน
ขณะที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนนั้น จะเน้นพื้นที่สถานีและรอบสถานี โดยพบว่า ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก กรณีมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 14% หากไม่พัฒนาเชิงพาณิชย์ช่วย IRR จะอยู่ที่ 7% ซึ่งทางญี่ปุ่นพร้อมในเรื่องเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกในการลงทุน ขณะที่ไทยมีนโยบายลดภาระหนี้ จึงให้ญี่ปุ่นช่วยศึกษารูปแบบการลงทุนที่ลดภาระรัฐบาล เช่น การร่วมลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการพัฒนาโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ นั้นจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยง ด้วยซึ่งรถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะต่างกับรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่ได้เปรียบในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยจะมีปริมาณผู้โดยสารจาก สปป.ลาวและจีนเข้ามาในโครงข่าย ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไม่ได้เชื่อมต่อกับใคร
ดังนั้นได้เสนอให้ญี่ปุ่นพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ แนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเชื่อมโครงข่ายภายในประเทศ โดยจะเริ่มที่ด้านตะวันออกก่อน เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร ส่วนจากบ้านไผ่-นครสวรรค์ ทางญี่ปุ่นกำลังศึกษา ส่วนจากนครสวรรค์-แม่สอด –ตาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการศึกษาเอง ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้เส้นทางรถไฟจากด้านตะวันออก จากจีน-สปป.ลาว ใช้ระบบรถไฟทางคู่ ที่มุกดาหาร-นครสวรรค์เพื่อใช้ระบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้ส่งรายงานประเมินราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กิโลเมตร ให้กับไทยแล้ว โดยรายงานดังกล่าวเป็นการประเมินเปรียบเทียบมูลค่าโครงการ กับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้จากเส้นทางรถไฟตลอด 12 สถานีที่รถไฟวิ่งผ่าน
รายงานฉบับนี้ประเมินราคารถไฟความเร็วสูงสไตล์ชิงกันเซ็งกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไว้ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 420,000 ล้านบาท และหากโครงการได้รับอนุมัติ ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2019 โดยเฟสแรกจะเป็นการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงพิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดใช้งานปี 2025