วันที่ 7 สิงหาคม 2567 รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาวินิจฉัยในอีกหนึ่งคดีสำคัญซึ่งเป็นที่จับตาอย่างมาก คือกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคําร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567
กกต. จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่น ให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป โดยนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.59 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งฝ่ายผู้ร้อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เดินทางมารับฟังด้วยตนเอง โดยสรุปสาระสำคัญคำวินิจฉัยได้ว่า ผู้ถูกร้อง (พรรคก้าวไกล) มีการกระทำต่อเนื่องหลายพฤติการณ์ มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง การรณรงค์ การแสดงความคิดเห็นบนเวทีปราศรัยต่างๆ หากปล่อยให้ทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง จึงถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครอง ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว แม้ภายหลังจะมีการนำออกจากเว็บไซต์ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทำ
การเสนอร่างแก้ประมวลกฎหมายมาตรา 112 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ถูกร้องร่วมกับ สส.ก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว และใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง รณรงค์ ปราศรัย มุ่งหวังผลักดัน ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อม โดยใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นเครื่องมือ ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดได้
การกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การหาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้ง เข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้อง และ สส. ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ลดทอนสถาบัน เป็นนโยบายพรรค และยังเข้าร่วมการปราศรัย เคยแสดงความเห็นให้แก้ไขและยกเลิกหลายครั้ง เจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ใช้ประโยชน์สภาบันเพื่อหวังคะแนนเสียงและชนะการเลิกตั้ง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ติเตียน
“ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดที่ 1 และ 2 ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 - 31 มกราคม 2567 เป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง เป็นช่วงที่กระทำความผิด 10 ปี พร้อมห้ามกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว ไปจดทะเบียนหรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค”