หลักสูตรผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน “บทจ.รุ่นที่ 1” (Business Leadership of Thai & China) ปีการศึกษา 2567-2568 ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดให้มีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
โดยวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 4 ของการศึกษาเรียนรู้ ตามหลักสูตร บทจ.รุ่นที่ 1 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดา กรุงเทพฯ ดร.กำพล มหานุกูล พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้ต้อนรับ ศ. ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ ซึ่งให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ด้านการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการบริหารธุรกิจ รวมไปถึงวัฒนธรรมองค์กร พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมศึกษาอบรม ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจภาคเอกชน ภาครัฐและภาคการเมือง ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และ นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เข้าเรียน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าวบรรยายว่า การบริหารระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องบริหารตามหลักวิชาการ ไม่ใช่การนำประสบการณ์ส่วนตัว หรือคิดเอาเอง โดยใช้สามัญสำนึก เข้าไปแก้ปัญหา เพราะอาจจะแก้ได้ไม่ตรงจุด หรือทำให้แย่ลงไปอีก เพราะการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก็เหมือนกับการบริหารบ่อน้ำ ที่มีทั้งทรัพย์สิน ผลผลิต รายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งเปรียบเสมือนปลาที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในบ่อ โดยมีปริมาณเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หลักการนี้เรียกรวมว่า “ทฤษีบ่อปลา”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในระดับประเทศ ประกอบด้วย 1. นโยบายการคลัง (Fiscal policy) 2. นโยบายการเงิน (Monetary policy) 3. นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate policy) สำหรับประเทศไทย การที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะความสามารถในการผลิตของเราต่ำ สินค้าของเรา ขายสู้ต่างประเทศไม่ได้ เนื่องจากมีราคาแพง เหตุจากค่าเงินบาทของเราแข็งเกินไป และค่าเงินบาทของไทยแข็งต่อเนื่องมานานนับสิบปี ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ จะทำให้จะทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ไม่สมหวังตามที่คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 2-3 เปอร์เซ็นต์
“วิธีการแก้ปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การทำให้บ่อน้ำมีความสดชื่นขึ้นมา ด้วยการปรับค่าเงิน เแก้ปัญหาดอกเบี้ยที่สูงเกินไป เงินเฟ้อน้อยเกินไป และที่สำคัญคือจะส่งผลให้สินค้าของบ้านเรา สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ถ้าทำเช่นนี้ เชื่อว่าปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาคนไม่มีจะกิน รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของเรา ก็จะฟื้นขึ้นมาได้ GDP จะสามารถปรับขึ้น 4-5 เปอร์เซ็นต์ กล่าวโดยสรุปหมายความว่ากลไกราคาทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว” ศ. ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช กล่าว