นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึง เป้าหมายงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2567 เน้นการผลิตสินค้าไปสู่เกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล ให้เกิดผลสำเร็จ ภายใต้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เน้นการส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จากพฤกษศาสตร์, เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งภายใต้การขับเคลื่อนงานต่างๆ เหล่านี้
"กรมส่งเสริมการเกษตร" ต้องมีภาคีในการเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตรกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อวิเคราะห์และแนวทางการแก้ไขเป้าหมายร่วมกันในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรในเขตภาคใต้ การวิเคราะห์ถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ และภายใต้บันทึกความร่วมมือนี้ ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อร่วมกันกำหนดภารกิจที่ต้องดำเนินการ พื้นที่เป้าหมายและแผนการดำเนินการในลำดับต่อไป
ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับภาคการศึกษา ภาคประชาชนในมิติต่าง ๆ ผลการลงนาม MOU ที่ผ่านมา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนงาน เช่น การถ่ายทอดความรู้การจัดการปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกร การเพิ่มความรู้และทักษะให้เจ้าหน้าที่ในเรื่องเศรษฐศาสตร์เกษตร สำหรับขอบเขตของความร่วมมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกรมส่งเสริมการเกษตร จะร่วมกันพัฒนาทางวิชาการส่งเสริมการเกษตร และงานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยและวิชาการทั้งสองหน่วยงาน
เช่น การพัฒนาบุคลากรส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรผู้นำ เพื่อพัฒนาบุคลากรส่งเสริมการเกษตร เยาวชนเกษตรและเกษตรกรผู้นำ เพิ่มทักษะที่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ การพัฒนามาตรฐานผลผลิตสินค้าด้านพืช และผลิตภัณฑ์ เป็นความร่วมมือการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาผลผลิตสินค้าเกษตรในภาคใต้ ได้แก่ ไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก ด้านการศึกษาวิจัย การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันและยางพารา การจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร การจัดการฐานข้อมูลด้านการเกษตร และเกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
นายพีรพันธ์ บอกอีกว่าสำหรับแผนงานที่กำหนดร่วมกันมี 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานด้านการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตร หลักสูตร non - degree แผนงานด้านการวิจัย เช่น ร่วมพัฒนางานวิจัยในพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น แมลงดำหนามมะพร้าว โรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน โรคใบร่วงยางพารา หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าลองกองตันหยงมัส พัฒนาโจทย์วิจัยในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดระเบียบโลกใหม่ ทั้งมาตรการ EUDR หรือ การสร้างมาตรฐาน RSPO ในปาล์มน้ำมัน ให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และด้านบริการวิชาการ พัฒนาศักยภาพเกษตรกรผ่าน Learning Course, Re-skill, Up-Skill, New-Skill พัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ รวมทั้ง ถ่ายทอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ด้วย