ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-15 สิงหาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า
การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่จะมีพรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะแบบ Landslide จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 27.40 ระบุว่า เป็นไปได้มาก รองลงมา ร้อยละ 27.25 ระบุว่า ค่อนข้างไปได้ ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ร้อยละ 21.15 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองซึ่งได้รับชัยชนะเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ไม่ใช่การชนะแบบ Landslide อาจจะต้องไปเป็นพรรคฝ่ายค้านพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.17 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 29.77 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 18.78 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ร้อยละ 12.21 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีพรรคการเมืองจับมือเป็นพันธมิตรกันและหลีกทางให้กันในบางเขตเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.81 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 27.02 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ร้อยละ 18.17 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง