การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน ที่ร้อยละ 17.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ญี่ปุ่น และตลาด CLMV มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยเฉพาะ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป มีการขยายตัวในระดับสูงทั้งด้านปริมาณและราคา ขณะที่ น้ำตาลทราย มีการขยายตัวในระดับสูงจากด้านปริมาณเป็นหลัก สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์
สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับเชื่อมั่น (65.4) สอดคล้องกับดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันที่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น (62.5) โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมกราคม การส่งออกมีมูลค่า 652,511 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 664,643 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.7 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 12,132 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ. เดือนมกราคม การส่งออกมีมูลค่า 20,101 ดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวตัวร้อยละ 24.3 ส่งผลให้การค้าขาดดุล 119 ล้านดอลลาร์ สรอ.
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ 16.2 (YoY) โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ข้าว ขยายตัวร้อยละ 37.2 (ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงโดยเฉพาะตลาดบังคลาเทศ เบนิน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง สหรัฐฯ แคเมอรูน และจีน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 42.3 (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน สหรัฐฯ ไต้หวัน และมาเลเซีย ขณะที่ตลาดอินโดนีเซียยังคงหดตัว) น้ำตาลทราย กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 42.2 (ส่งออกไปตลาดศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 18.4 (ส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 20.4 (ส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวร้อยละ 20.7 (ส่งออกไปตลาดจีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านราคา ขณะที่การส่งออกในตลาดอินเดีย ตุรกี มาเลเซีย และบราซิล ขยายตัวได้ในระดับสูง) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 7.3 (ส่งออกไปตลาดเยอรมนี แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น)
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 11 ที่ร้อยละ 17.2 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 18.2 (ส่งออกไปชิลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 21.5 (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และฮ่องกง) เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 87.9(ส่งออกไปตลาดฮ่องกง จีน สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และญี่ปุ่น ขยายตัวได้ในระดับสูง) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 40.5 (ส่งออกไปตลาดจีน อินเดีย เวียดนาม สหรัฐฯ และมาเลเซีย) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ ยังคงหดตัวร้อยละ 21.3 (หดตัวในตลาดกัมพูชา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และลาว ขณะที่บังคลาเทศขยายตัวสูง)
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ขยายตัวทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 15.1 ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกไป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 11.3 26.3 และ 8.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.1 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของจีน CLMV และเอเชียใต้ที่ร้อยละ 11.6 18.4 และ 26.1 ตามลำดับ และการส่งออกอาเซียน 5 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.3 ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 18.9 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS ที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 11.0 37.0 และ 72.0 ตามลำดับ
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อาหารทะเลแปรรูปฯ เครื่องจักรกลฯ และ ข้าว เป็นต้น
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 26.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องปรับอากาศฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 8.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯเครื่องปรับอากาศฯ เครื่องจักรกลฯ เคมีภัณฑ์ และ เครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น
ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 11.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และ เครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 26.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ เคมีภัณฑ์
เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ และ ข้าว เป็นต้น
ตลาดอาเซียน(5) ขยายตัวร้อยละ 14.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ
น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปฯ น้ำมันดิบ และ เม็ดพลาสติก เป็นต้น
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 18.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 18.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 11.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ
ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก และ เส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น
ตลาดเครือรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวร้อยละ 72.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปฯ ผลิตภัณฑ์ยาง และ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 12.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องจักรกลฯ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกปี 2561
การส่งออกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกไทย โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 (สูงสุดในรอบ 7 ปี) นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแผนการปฏิรูปภาษี นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีจากการบริโภคและการลงทุน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่คาดว่าจะสามารถรักษาพลวัตรการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ