สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินการออกมาตรการด้านการเงินทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ทั้งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จึงได้ดำเนินการออกมาตรการด้านการเงินทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
ธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเร่งด่วน ประกอบด้วย
1) มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3 เดือน
2) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
- โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 เดือน ปลอดชำระเงินงวดใน 3 เดือนแรก
- โครงการสินเชื่อเคหะผู้ประสบภัย วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดร้อยละ 100 ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี
ทั้งนี้ สามารถแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็ปไซต์ของธนาคารออมสินหรือติดต่อสาขาของธนาคารออมสินในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประสบภัย ประกอบด้วย
1) มาตรการพักชำระหนี้
- กรณีหนี้ถึงกำหนดชำระหรือหนี้ค้างชำระ 0 -3 เดือน สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี กรณีลูกค้าไม่สามารถชำระดอกเบี้ยค้างชำระได้ทั้งหมด ให้ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี ยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และกรณีลูกค้าสามารถชำระดอกเบี้ยค้างชำระได้ร้อยละ 20 จะตัดชำระต้นเงินร้อยละ 50 และตัดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 50
- กรณีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และลดภาระหนี้และดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 70 เมื่อชำระหนี้ได้ตามสัญญาใหม่
2) มาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. เท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ย ใน 6 เดือนแรก
- โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
ทั้งนี้ สามารถแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชน ประกอบด้วย
1) มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวดร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
2) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าปัจจุบัน สามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือสินเชื่อใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิมหรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี
3) มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนหรืออยู่ระหว่างการประนอมหนี้จะได้รับการปลอดชำระดอกเบี้ยและเงินงวดใน 6 เดือนแรก กรณีลูกค้าที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ผู้กู้ร่วมหรือทายาทสามารถผ่อนชำระต่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีตลอดระยะเวลาคงเหลือ และกรณี ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้สามารถยกเว้นหนี้ในส่วนของอาคารและผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ
4) มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติจะพิจารณาสินไหมอย่างเร่งด่วน (Fast Track) เป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบด้วย
1) มาตรการพักชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะของธุรกิจแต่ละราย
2) มาตรการสินเชื่อเติมทุน สำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการผ่านโครงการ Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้ วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ MLR - 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของ ธพว. เท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือนแรก
ทั้งนี้ สามารถแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แบ่งเป็น
- มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราวสูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินหมุนเวียนเดิม สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และเปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาวผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
- มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลงร้อยละ 0.50% หรือจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 50 ในช่วง 6 เดือนแรก และพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี
ทั้งนี้ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็ปไซต์ของ ธสน. ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระและได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่ปรับปรุงบัญชี ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและลูกหนี้ของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567 ประกอบด้วย
1) มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 สามารถพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันถึงกำหนดชำระ
2) มาตรการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้สามารถพักชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 งวด โดยขอเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
กระทรวงการคลังเห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ประชาชนรายย่อย และผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถลดภาระต้นทุนและให้มีเงินทุนหมุนเวียน สามารถฟื้นฟูกิจการ ปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดและไม่เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างต่อไป