ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรฯ เร่งฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด เยียวยาเกษตรกร 1.1 แสนราย
29 ส.ค. 2567

เกษตรฯ เริ่มสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด ประเมินความเสียหาย เบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ เตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร พร้อมแนะนำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 จังหวัด พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับมือน้ำไหลบ่า

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและลุ่มน้ำ ขณะนี้ (29 ส.ค. 67) มีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด ได้แก่

มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี พิจิตร กาญจนบุรี ตาก ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ ตราด ขอนแก่น นครนายก แพร่ พิษณุโลก อุดรธานี เลย เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน 

เบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 588,231.25 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 86,534.25 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 26,759.50 ไร่ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานพื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติ พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร

รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย สื่อสารให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์และบริหารความเสี่ยง โดยตรวจสอบเส้นทางน้ำไหล เสริมคันกั้นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยง เตรียมเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์สำหรับระบายน้ำเพื่อลดการแช่ขังซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพืช

โดยจะต้องสำรวจแปลงเกษตรและพื้นที่ใกล้เคียงในการรองรับหรือเป็นทางผ่านของการระบายน้ำด้วย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรควรงดการใส่ปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิต เพื่อลดความสูญเสียรายได้และลดการเพิ่มต้นทุนการเกษตรไปโดยไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งควรจัดเก็บเครื่องมือการเกษตรในที่ปลอดภัยป้องกันความเสียหายด้วย

การดำเนินการให้ความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการเกษตร กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

สำหรับขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช มีดังนี้

1. เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว

2. เกษตรกรยื่นขอรับการช่วยเหลือ (กษ01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน อบต./นายกเทศมนตรี ตรวจสอบและรับรองความเสียหาย ตามสถานที่ที่กำหนด

3. คณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้านตรวจสอบและรับรองความเสียหาย แล้วแต่กรณี

4. นำรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไปติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน

5. ในส่วนของการพิจารณาให้การช่วยเหลือ ดังนี้

 สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท) ภายใน 40 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย

 หากไม่เพียงพอให้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจาณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินในอำนาจ 20 ล้านบาท) ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เกิดภัย

หากไม่เพียงพอให้คณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจาณาให้ความเห็นชอบ ขอใช้เงินทดรองราชการ ในอำนาจปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (วงเงินในอำนาจ 50 ล้านบาท) โดยจังหวัดจะเสนอให้กรมพิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ผ่านการพิจารณาก.ช.ภ.จ. และเสนอให้กระทรวงพิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากจังหวัด และเสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณา ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกรม

โดยเกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว และ ภายใน 10 วันทำการหลังจากได้รับการอนุมัติ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ตามลำดับต่อไป ให้เกษตรกรระวังการแอบอ้างจากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีในการรับเงินด้วย

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) จำนวน 10 แห่ง ได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชไว้พร้อมแล้ว ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 92,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 28,000 ซอง และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น

\รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด และยังเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ของท่าน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง   กล่าวว่า   ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ กรมประมงในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยและใกล้เคียง นำเรือตรวจการประมงเข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที อาทิ

ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพิษณุโลกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประมงจังหวัดแพร่ นำเรือตรวจประมงนเรศวร 04 ออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่อุทกภัย และลำเลียงผู้ป่วยส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิในพื้นที่ตำบลในเวียง พร้อมทั้งนำอาหารและน้ำดื่มไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (ด้านการประมง) ในพื้นที่ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567) พบพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ ปริมาณการมูลค่าความเสียหาย 85,717,602 บาท วงเงินช่วยเหลือ 33,608,791.04 บาท

ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่

3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากคิดคำนวนพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

นอกจากนี้ จากหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฉบับที่ 5 กรมชลประทาน (วันที่ 27 สิงหาคม 2567) แจ้งเตือน 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมประมงขอประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

1. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน

(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

(2) ปรับปรุงคันบ่อ และเสริมคันบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สูงกว่าปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา

(3) จัดทำร่องระบายน้ำและขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้ร่องระบายน้ำตื้นเขินออก เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้สะดวก

(4) ควบคุมการใช้นำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะหรือปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(5) จัดเตรียมเครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในการดำเนินการช่วยสัตว์น้ำในบ่อ กรณีน้ำจากภายนอกไหลเข้าบ่อกะทันหัน

(6) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีไว้ให้พร้อม

(7) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคเพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

(8) เตรียมปูนขาวไว้สำหรับปรับสภาพน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลังน้ำท่วมปริมาณ 50-60 กิโลกรัม/ไร่

(9) ตรวจสอบคุณภาพน้ำภายนอกหากจะนำน้ำภายนอกเข้าบ่อจะต้องแน่ใจว่าน้ำที่นำเข้าในบ่อมีสภาพปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำเสียเข้าบ่อ เช่น สังเกตสัตว์น้ำตามธรรมชาตินอกบ่อมีการว่ายน้ำปกติ ฯลฯ

(10) หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์น้ำในขณะฝนตก

(11) วางแผนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับฤดูกาล และสภาพพื้นที่เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำก่อนการเกิดอุทกภัยหรือน้ำหลาก

2. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง

(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

(2) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

(3) ควรจัดวางกระชังให้มีระยะห่างกันพอสมควร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก (กระชังที่วางควรมีการจัดวางเป็นแถว และทำความสะอาดกระชัง เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี)

(4) ควรหมั่นตรวจสอบดูแลความคงทนแข็งแรงของกระชังอยู่เสมอ เปลี่ยนเนื้ออวนกระชัง และปิดด้านบนกระชังด้วยเนื้ออวน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงออกจากกระชัง

(5) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เนื้ออวน ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และสารเคมี ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจับสัตว์น้ำไว้ให้พร้อม

(6) สำหรับกระชังที่อยู่บริเวณแนวทางเดินของน้ำ ควรระมัดระวังในช่วงที่มีน้ำหลาก และควรเลื่อนกระชังออกจากบริเวณดังกล่าว เพราะอาจเกิดความเสียหายจากความแรงของน้ำหลากและสิ่งเจือปนที่มากับกระแสน้ำ

(7) วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะกับฤดูกาลเพื่อสามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อนน้ำหลาก

ท้ายนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการทุกมิติอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และหากเกษตรกรต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมทงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทร 02 558 0218 และ 02 561 4740

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...