เอ็ตด้าโชว์แผนปี 68 หลังผลงาน 4 ปีโดดเด่น ทั้ง กำกับ-ส่งเสริม สู่อนาคตดิจิทัลที่มั่นใจของทุกคน ชูสัดส่วน 30:30 ภายในปี 2570 เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มให้ได้ พาไทยขึ้นอันดับที่ 30 ด้านการแข่งขันประเทศ เร่งเฮียริ่งประกาศกำหนดมาตรฐานแพลตฟอร์มดิจิทัลภายในต.ค.นี้
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวว่า กว่า 14 ปี ของเอ็ตด้ากับการขับเคลื่อนอนาคตธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศให้ก้าวสู่สังคมดิจิทัลด้วยบทบาทสำคัญ ทั้ง ‘Co-Creation Regulator’ กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ควบคู่ไปกับบทบาท ‘Promoter’ มุ่งส่งเสริม รัฐ เอกชน SMEs ผนวก Tech Provider ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายใหญ่ 30:30 ทั้งการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เพิ่มเป็น 30% ของ GDP และนำพาประเทศไทยขึ้นสู่ 30 อันดับแรกของโลก ในด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลภายในปี 2570
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเรื่องมาตรการในการควบคุมแพลตฟอร์มต่างชาติกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม หรือ ดีอี โดยปลัดกระทรวง เป็นประธานคณะกรรมการความร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐ ร่วมกับ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะออกร่างประกาศ อีมาร์เก็ตเพลส ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างชาติให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย คาดว่า จะนำร่างประกาศดังกล่าวเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในไม่เกินต้นเดือน ต.ค. 2567 นี้
ทั้งนี้ เพื่อกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยง กำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่เข้าข่ายความเสี่ยง ว่ามีใครบ้าง จากนั้นต้องกำหนดมาตรฐานของสินค้าให้แพลตฟอร์มต่างชาติปฎิบัติตามเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องมีทั้งมาตรฐาน ม.อ.ก.และอ.ย. สามารถตรวจสอบได้ ผู้ใช้บริการต้องสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนประเด็นการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการต้องไม่สุ่มเสี่ยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม จากนั้นจึงเสนอเข้าอนุกรรมการด้านกฎหมาย และเสนอให้บอร์ด เพื่ออนุมัติเห็นชอบ โดยหลังจากประกาศต้องให้เวลากับแพลตฟอร์มว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกี่วัน เพื่อให้เจ้าของแพลตฟอร์มมีเวลาในการเตรียมระบบตรวจสอบตามมาตรฐานของประเทศไทย
นายชัยชนะ กล่าวว่า นอกจากนี้ เอ็ตด้าและ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ร่างพ.ร.บ. เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด ซึ่งเดิมการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของ กขค.นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อน ทว่าแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่ข้อมูลอยู่ต่างประเทศ กขค.จึงไม่มีอำนาจในการขอข้อมูลจากต่างประเทศ
แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และครม.มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในสมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากยังมีการต่อสู้ทางความคิดกันอยู่ ระหว่างคนร่างกฎหมายและคนต้องการบังคับใช้ในประเด็นควรกำกับดูแลหรือไม่ หากกำกับดูแลจะเป็นการปิดกั้นเทคโนโลยีด้วยหรือไม่
สำหรับ การดำเนินงานในปี 2568 ชูแนวคิด ‘ก้าวที่มั่นคงเพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ’
ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมสำหรับ การการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ (Best Practices) เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ ผนวกการวิเคราะห์
ผลกระทบ เช่น Labor Platform และ e-Commerce Platform เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการมีคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเกิด Self-regulation
โดยผลักดันให้เกิดการใช้Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐและเอกชนที่มากขึ้น โดยเฉพาะบริการรัฐที่ตั้งเป้าเชื่อมระบบให้ได้ 80% ภายในปี 2568 นี้ มีแนวทางการใช้งาน Digital Document Wallet สำหรับการทดลองใช้งาน พร้อมกับส่งเสริมการใช้งานผ่านแคมเปญ MEiD (มีไอดี)
และติดสปีด SMEs ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนกระบวนการทางธุรกิจ โดยนำโมเดลการทำงานขยายลงพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ที่นอกจาก ภาคการค้า การบริการแล้ว ยังขยายต่อในภาคการเกษตร มุ่งเน้นการเพิ่มความรู้ เพิ่มรายได้ ขยายฐานลูกค้าและตลาดให้มากขึ้น
ผ่านการดำเนินงาน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1) เพิ่มปริมาณแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ตั้งเป้า90,000 คนในปี 2570
2) เพิ่มรายได้ชุมชนและลดอัตราการว่างงาน ตั้งเป้าปี 2570 มีชุมชนเข้าร่วม 1,000 ชุมชน โดยต่อยอดโมเดลการพัฒนาชุมชนในระดับภูมิภาค จับมือพาร์ทเนอร์ ปั้นโค้ชดิจิทัลชุมชนผนวกการพัฒนาชุมชนทั้งการเพิ่มความรู้ และการผนวกเครื่องมือทางออนไลน์ พร้อมผลักดันสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ก่อนส่งต่อพาร์ทเนอร์เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง
3) เสริมสร้างให้คนไทยรู้เท่าทันเทคโนโลยีและภัยออนไลน์ ขยายต่อเนื่องในกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้ามี EDC Trainer กระจายลงอำเภอเพิ่มขึ้นอีก10% (ไม่น้อยกว่า 80 อำเภอ) และมี 2570 เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50% พร้อมเผยแพร่ความรู้และสื่อ และเสริมการวัดผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในเชิงพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดสร้าง Community เครือข่ายการทำงาน เพิ่มความยั่งยืน