ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า การดำเนินงานในปี 2561 ดีอีมีความมุ่งมั่นต่อยอดการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากโครงการเน็ตประชารัฐ ภายหลังได้มีการติดตั้งโครงข่ายแล้วเสร็จครบทั้ง 24,700 หมู่บ้าน ตามเป้าหมายในปี 2560 ซึ่งในปี 2561 จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอีกกว่า 10,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ห่างไกลหรือชายขอบ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเข้าถึงการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ดีอี ยังจะดำเนินโครงการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่ประชาชน โดยเป็นการต่อยอดของ “วิทยากรแกนนำ” กว่า 1,000 คน ที่ได้จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐและการใช้งานอินเตอร์เน็ตในระดับพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนต่างๆ พร้อมที่จะเป็นผู้แทน ไปสร้างการรับรู้ให้กับผู้นำหมู่บ้านที่มีเน็ตประชารัฐอีกกว่า 100,000 คน ภายในปีนี้ และไปขยายผลสร้างความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 คน ต่อไป
ขณะที่ในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลหลายฉบับ โดยเฉพาะในกลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ....รวมทั้งมติจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 17 ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ให้จัดตั้ง “ศูนย์เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของอาเซียน” ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับบุคลากรด้านไอทีให้กับ 10 ประเทศอาเซียน ปีละมากกว่า 150 คน เพื่อร่วมกันทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ด้านโครงการ Big Data หรือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ดีอีจะนำข้อมูลที่มีความพร้อมออกมาเริ่มใช้ก่อนในปี 2561 อาทิ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ด้านไฟฟ้า การประปา เป็นต้น ซึ่งหาก Big Data ที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง สามารถนำมาใช้ได้เร็วจะยิ่งส่งผลดีกับประเทศ เพราะจะทำให้ไทยมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม และถือเป็นการส่งเสริมการบูรณาการของภาครัฐ
สำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยได้ดำเนินการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ใน 6 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และ 1 เมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปี 2562 จะมีเพิ่มเมืองอัจฉริยะเป็น 9 จังหวัด ปี 2563 เพิ่มเป็น 30 จังหวัด ปี 2564 เพิ่มเป็น 50 จังหวัด และในปี 2565 จะมีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลฯ ในปี 2561 อยู่ภายใต้แนวทางการทำงานหลัก 5 ด้าน หรือ SIGMA ประกอบด้วย “S” คือ Cyber Security หรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ “I” คือ Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐาน “G” คือ Digital Government หรือ รัฐบาลดิจิทัล “M” คือ Digital Manpower หรือ กำลังคนดิจิทัล และ “A” คือ Applications หรือ ธุรกิจและการประยุกต์ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคแห่งเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพื่อก้าวไปสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์” อย่างเป็นรูปธรรม