ดีป้า ลุยส่งเสริม 60 จังหวัดใช้โดรนเพื่อการเกษตร - ผุดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วไทย เร่งขับเคลื่อนกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัลผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ)
ดีป้า เดินหน้าส่งเสริมการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกร 424 ชุมชนในพื้นที่ 60 จังหวัดทั่วไทย พร้อมยกระดับธุรกิจซ่อมบำรุงสู่ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร 48 แห่ง เร่งขับเคลื่อนกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัลผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ยกระดับเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศด้วยโดรนเกษตรสัญชาติไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน dSURE
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) และ ดีป้า ได้บูรณาการการทำงานกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เพื่อส่งเสริมกลไกสร้างระบบนิเวศดิจิทัล พร้อมยกระดับเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการรับรองมาตรฐาน dSURE จาก ดีป้า
พร้อมกันนี้ ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร และพัฒนาทักษะเกษตรกรและชุมชนให้สามารถเป็นผู้ให้บริการบินโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุด ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรแก่กลุ่มเกษตรกร 424 ชุมชนในพื้นที่ 60 จังหวัด ประกอบด้วย
- กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 104 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
- กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 31 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส และยะลา
- กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก จำนวน 52 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี กรุงเทพมหานคร นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง
- กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 12 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
- กลุ่มชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 225 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี
พร้อมกันนี้ยังได้ดำเนินการคู่ขนานไปกับการฝึกอบรมผู้บังคับโดรนเพื่อการเกษตรแก่ชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้โดรนทั้งหมด ทั้งภาคทฤษฎีโดยเหล่าวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการโดรนเพื่อการเกษตร และภาคปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทดลองใช้งานจริง นอกจากนี้ ปัจจุบันมีศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 48 แห่ง แบ่งออกเป็นภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคกลางและภาคตะวันตก 6 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง โดยศูนย์ซ่อมโดรน 1 แห่งรองรับการให้บริการชุมชนใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10 ชุมชน ซึ่งทุกกิจกรรมจะดำเนินงานสอดคล้องกันเพื่อสร้างระบบนิเวศเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ชุมชนบินได้ ซ่อมเป็น
"ดีป้า ตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินโครงการจะพัฒนาทักษะเกษตรกรและชุมชนทั่วประเทศสู่การเป็นผู้ให้บริการบินโดรน ไม่น้อยกว่า 1,000 คน เกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ 50 แห่ง ผลักดันให้ชุมชนประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร จำนวน 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย ยา สารเคมี ประหยัดค่าแรงงานฉีดพ่น เพิ่มผลผลิตและรายได้ เกิดการยกระดับกลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมเปิดโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว