นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยทและมอบนโยบายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ได้เร่งรัดให้รฟท. ยกระดับคุณภาพการให้บริการ โดยเร่งรัดทำโครงการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้า หรือรถไฟไฟฟ้า ทดแทนการเดินรถแบบระบบดีเซล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพิ่มความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งจากการผลการศึกษาเบื้องต้น รฟท. แจ้งว่าจะทำโครงการรถไฟไฟฟ้าในจำนวน 4 เส้นทาง เชื่อม 4 ภูมิภาค คือ 1. กทม.-นครสวรรค์ 2. กทม.-นครราชสีมา 3. กทม.-หัวหิน และ 4. กทม.-พัทยา โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการออกแบบก่อสร้างประมาณ 100-200 ล้านบาท จากนนั้นจึงจะมาจัดลำดับความสำคัญว่าจะเริ่มก่อสร้างเส้นทางไหนก่อน
รายงานข่าวจากรฟท. แจ้งว่า การดำเนินโครงการรถไฟไฟฟ้า 4 เส้นทาง เป็นไปตามแผนวิสาหกิจของการรถไฟฯ ระหว่างปี 2560- 2564 ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่าโครงการรถไฟไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทาง มีความเหมาะสมในการดำเนินงาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 100,907.57 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะเดินรถด้วยระบบไฟฟ้ารวม 885 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 1. เส้นทาง กทม.-นครสวรรค์ เส้นทาง เริ่มจาก ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี-ปากน้ำโพ ระยะทางรวม 243 ก.ม. มีสถานีหยุดรถ 57 แห่ง
2. เส้นทางกทม.-นครราชสีมา ช่วงชุมทางบ้านภาชี-ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางจิระ ระยะทาง 176 ก.ม. มีสถานีหยุดรถ 31 แห่ง 3. เส้นทางกทม.-หัวหิน ช่วง ชุมทางบางซื่อ-ชุมทางหนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 148 ก.ม. มีสถานีหยุดรถ 46 แห่ง แห่ง และ 4. เส้นทาง กทม.-พัทยา ช่วงชุมทางบางซื่อ-มักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-พัทยา ระยะทาง 159 ก.ม. สถานีหยุดรถ 37แห่ง
“การยกระดับการเดินรถไฟดีเซลให้เป็นการเดินรถระบบไฟฟ้า สำหรับ 4 เส้นทางนำร่อง การรถไฟฯ จะต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 100,907.57 ล้านบาท เพราะต้องมีการลงทุนซื้อหัวรถจักรไฟฟ้าใหม่มาวิ่งแทนรถดีเซล, ต้องปรับปรุงระบบบเดินรถ และติดตั้งระบบไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ ติดตั้งระบบอาณัติสัญญา รวมทั้งสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟไฟฟ้าด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรถไฟไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทาง จากการศึกษาพบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจรวมทั้ง 4 เส้นทางค่อนข้างดี อยู่ที่ 13.84% โดยสามารถเรียงลำดับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากมากมาหาน้อยได้ดังนี้ 1. เส้นทางกทม.-หัวหิน อยู่ที่ 13.64% รองลงมาได้แก่ กทม.-โคราช อยู่ที่ 13.19% , กทม.-พัทยา 10.55% และ เส้นทาง กทม.-นครสวรรค์ อยู่ที่ 7.01%
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่ารฟท. กล่าวว่า รถไฟฯ จะเสนอโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม มูลค่ารวม 1.4 แสนล้านบาท ให้ ครม. เห็นชอบเดือนมี.ค. นี้ สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เหลืออีก 7 เส้นทาง จะเร่งจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมและทยอยเสนอให้ ครม. พิจารณาตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค
นอกจากนี้ ยังมีรายงาข่าว แจ้งว่า ในเดือนมีนาคมนี้ รฟท.จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง จากทั้งหมด 9 เส้นทาง คือ 1.ทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2 ทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม โดยทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ ส่วนที่เหลืออีก 7 เส้นทางอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) พิจารณา โดยจะนำเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อก่อสร้างได้ครบทั้งหมดในปีนี้แน่นอน
ทั้งนี้ รฟท.ยังเตรียมยกระดับรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ให้เป็นระบบรถไฟฟ้า รวมถึงจัดลำดับความสำคัญรถไฟทางคู่อีก 4 เส้นทางให้เป็นระบบไฟฟ้าด้วย คือ 1.ทางคู่ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 2.กรุงเทพฯ-หัวหิน 3.กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ และ 4.กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความคุ้มค่าในการปรับเป็นไฟฟ้า
ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังพล จากมติ ครม.ในอดีตจำกัดการรับพนักงานของ รฟท.แต่ละปีส่งผลให้ขณะนี้ขาดแคลนกำลังพลโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ขับหัวรถจักร แต่ในอนาคตการขยายงานรถไฟทางคู่และโครงการอื่นๆ รฟท.มีความต้องการกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกจำนวนมาก โดยต้องการอัตรากำลังต่อปีไม่น้อยกว่า 19,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมี 14,000 คน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอ ครม.เพื่อปลดล็อกให้รับคนเพิ่มได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า รวมทั้งจะมีการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟที่เปิดสอนให้ได้มาตรฐานและสามารถผลิตบุคลากรต่อปีเพิ่มขึ้น
ขณะที่ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายโนควัง-อิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย โดยไทยได้เชิญชวนให้นักลงทุนเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งนักลงทุนจากเกาหลีใต้ให้ความสนใจจะมาลงทุนมากขึ้น หลังจากที่เห็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากก่อนหน้านี้