กองทุน FTA โชว์ผลงานเด็ด ผลักดันสกลนครเป็น “นครแห่งครามธรรมชาติโลก” สำเร็จ ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังสภาหัตถศิลป์โลกส่งทีมมาตรวจสอบ พบกระบวนการผลิตใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ไม่มีเคมีภัณฑ์เจือปน เผยปี 60 ได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือไป 7 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ มั่นใจช่วยผู้ประกอบการสู้เปิดเสรีได้แน่
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาหัตถศิลป์โลก (World Crafts Council) ได้ส่งทีมมาตรวจประเมินคุณสมบัติการผลิตผ้าย้อมครามที่สกลนครและที่ชุมชน ซึ่งปรากฎว่าผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ตั้งไว้ คือ เป็นการทอผ้าที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ไม่มีเคมีภัณฑ์เจือปน และได้ประกาศรับรองให้จังหวัดสกลนครเป็น “นครหัตถศิลป์โลกเจ้าแห่งครามธรรมชาติ” (World Craft City for Natural Indigo) ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการรับรองนี้
“ผลงานที่เกิดขึ้น เป็นความสำเร็จของกองทุน FTA ที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการหัตถกรรมสิ่งทอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน โดยกองทุนได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือให้กับสหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสานวงเงิน 12.5 ล้านบาท ในปี 2557-58 เป็นงบดำเนินการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับสหกรณ์ฯ ซึ่งหลังจากเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ทางกลุ่มก็มีการพัฒนาการผลิต ตัวสินค้า จนเป็นที่ยอมรับ ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จนนำมาสู่การได้รับการรับรองในครั้งนี้” นายอดุลย์กล่าว
สำหรับผลงานการสนับสนุนสหกรณ์คลัสเตอร์หัตถศิลป์อีสานของกองทุน FTA ได้มีการเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการเตรียมความพร้อม การสร้างจุดแข็งใหม่ๆ ที่พัฒนาจากความสามารถในการแข่งขันหลัก การพัฒนารูปแบบการผลิต กระบวนการผลิต การใช้สีธรรมชาติเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยใช้ต้นทุนและเวลาในการทำงานที่ลดลง รวมถึงการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ โดยมีการดำเนินกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ การสำรวจปัญหา ความต้องการ และสถานการณ์ด้านการผลิตควบคู่กับการประเมินโอกาสและความต้องการทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมสิ่งทอโดยใช้ตลาดนำ หรือออกแบบตามความต้องการของต่างประเทศโดยการดึงอัตลักษณ์ของพื้นที่มาเป็นจุดขาย โดยนักออกแบบที่มีประสบการณ์ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตสีผงจากธรรมชาติให้มีโทนสี และเฉดสีที่หลากหลาย การพิมพ์ผ้าด้วยสีย้อมธรรมชาติโดยใช้น้ำมันจากพืชเป็นสารยึด และการพัฒนากระบวนการพิมพ์และเขียนผ้าที่มีความสม่ำเสมอ เป็นต้น
นายอดุลย์กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้อนุมัติโครงการภายใต้กองทุน FTA ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 7 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 16 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ โดยกรมฯ มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน FTA สามารถปรับตัว และเตรียมความพร้อมในการสู้การเปิดเสรีทางการค้าได้แน่นอน
สำหรับ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาวในเขตจังหวัดชายแดนไทย–ลาว (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) , โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางสมุนไพรไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) และสากล , โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (ระยะที่ 3) , โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด สำหรับการแข่งขันในเขตการค้าเสรี (FTA) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) , โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาระบบบริหารจัดการของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด , โครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารคุณภาพผลิตภัณฑ์นม และโครงการเสริมสร้างศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสินค้ากระเทียมไทย หอมแดงไทย และหอมหัวใหญ่ไทยปลอดโรค ภายใต้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า