นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 447 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 393 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 228 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางบัญชี บริการตัดแต่งเนื้อไก่ตามขนาดและรูปแบบที่ลูกค้ากำหนด บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานบางส่วนพร้อมสาธารณูปโภค บริการให้เช่ารถยนต์ บริการให้ใช้พื้นที่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 76 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงานบางส่วน บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่งสำหรับรถแทรกเตอร์ บริการรับจ้างผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสารเคมี บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการชิ้นส่วนรถยนต์ การทำกิจการโฆษณา โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ จีน และไต้หวัน
3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบและบริหารจัดการโครงการงานปรับปรุงระบบวิทยุ (Radio System Upgrade) ของสถานีรถไฟฟ้า บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ บริการจัดหา ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อส่งผ่านข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุในเครือข่ายระบบ 3G โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ และจีน
4. ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 116 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องคอมพิวเตอร์เวิร์กสเตชั่น และซอฟต์แวร์สำเร็จรูป การค้าปลีกรถยก (forklifts) และอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ การค้าส่งลิฟท์บ้าน การค้าส่งวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตเบเกอรี่ การค้าส่งยาสำหรับใช้ในการบำบัดและรักษาโรคในมนุษย์ การค้าส่งเซิร์ฟเวอร์และเครื่องต่อสัญญาณการเชื่อมต่อโครงข่าย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ สวีเดน และสาธารณรัฐเกาหลี
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผสมพลาสติกพีพีและพีอี ให้เป็นวัตถุดิบใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบโครงข่าย และการแก้ไขปัญหาในระบบโครงข่ายระดับสูง องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Smart Lift, ระบบขับเคลื่อน และระบบความปลอดภัยSmart Safety System และองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อทบทวนแนวทางการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์
ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเท่ากับเดือนก่อน ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 288 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 เนื่องจากในเดือนมกราคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน และบริการให้เช่าเรือกักเก็บปิโตรเลียม
อนึ่งในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 44 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,182 ล้านบาท ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 41 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 807 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 270 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,302 ล้านบาท