หอการค้าไทย ชี้ ลดดอกเบี้ย 0.25% เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป เอื้อต่อการส่งออกของไทย ด้าน สรท.ขอบคุณ กนง.ที่ลดดอกเบี้ย คลายความกดดันผู้ส่งออกช่วยลดต้นทุน
การคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุม กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25% สภาหอการค้าฯ เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้
รวมทั้งการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เชื่อว่าจะกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนต้องแบกรับ ดังนั้น การลดครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายปี 2567 และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศว่านโยบายทางการเงินและ นโยบายทางการคลังของประเทศไทยสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เซอร์ไพส์ เพราะคาดเดาไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณ กนง.ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคลายความกดดันให้ภาคธุรกิจในหลายด้าน
รวมทั้งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงอยู่แล้วจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการได้ไม่มากก็น้อย เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันก็ยังอยู่ในระดับสูง และยังช่วยในเรื่องของเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าลงอีก แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นมากดดัน
ส่วนการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับปะชาชนหรือไม่ตอบยากในภาวะเศรษฐกิจตรึงตัว ประชาชนยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยอีกทั้งขึ้นอยู่กับภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
"ไม่เซอร์ไพส์ที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย เพราะดูจากสถานการณ์ บริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องเอื้อต่อการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องขอขอบคุณ กนง.เพราะคลายความกดดันของภาคการส่งออกได้มาก”นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลที่อยากช่วยดูแลต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มเติม สิ่งใดที่ช่วยได้หรือชะลออกไปก่อนก็ควรดำเนินการ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การตรึงราคาน้ำมัน ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นส่วนช่วยในเรื่องการผลักดันการส่งออกของไทยได้ส่วนหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตได้ 2%
ส่วนการจะลดดอกเบี้ยในครั้งต่อไปหรือไม่ คงต้องรอดูว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะลดดอกเบี้ยอีกหรือไม่ในการประชุมต้นเดือน พ.ย.2567 อีกทั้งต้องดูความเคลื่อนไหวของเงินบาทของคู่ค้าและคู่แข่งของไทยด้วยจะเคลื่อนไหวอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเงินบาทเราแข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด