นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวตามสื่อกรณีที่สหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการทางการค้าโดยการเรียกเก็บอากรกับสินค้าเหล็กและอลูมินัมที่นำเข้าจากทั่วโลก โดยอาศัยอำนาจของประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 มาตรา 232 ซึ่งมีการเปิดการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce : DOC) อ้างถึงเหตุผลของการใช้มาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ (National Security) นั้น
นายวันชัยฯ กล่าวว่ามาตรการ 232 แตกต่างจากการใช้มาตรการภายใต้มาตรา 201 ของ Trade Act of 1974 ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Global Safeguards) ภายใต้ GATT Article XIX และความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยหน่วยงานที่มีอำนาจการไต่สวนเพื่อกำหนดใช้มาตรการฯ คือ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. International Trade Commission : USITC) ในการพิจารณาเพื่อกำหนดใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Global Safeguards) กระบวนการไต่สวนต้องระบุให้ชัดเจนว่าสินค้าที่นำเข้ามีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน หรือแข่งขันโดยตรงกับสินค้าชนิดเดียวกันที่อุตสาหกรรมภายในผลิตอย่างไร และสินค้านำเข้านั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในอย่างไร ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้มีการกำหนดใช้มาตรการภายใต้มาตรา 201 กับสินค้า 2 รายการ คือ สินค้าเครื่องซักผ้า และสินค้าเซลล์แสงอาทิตย์
กรณีการพิจารณาใช้มาตรการภายใต้มาตรา 232 (National Security) ของสหรัฐฯ ในอดีตสหรัฐฯ เคยมีการเปิดการไต่สวนมาตรการภายใต้มาตรา 232 มาแล้วกับสินค้า 2 รายการ ได้แก่ สินค้าน้ำมันดิบ (Crude Oil) และสินค้าเหล็ก (Iron and Steel) แต่ไม่มีการกำหนดใช้มาตรการกับสินค้าทั้งสองรายการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในกรณีของสินค้าเหล็กและอลูมินัมที่นำเข้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกรณีดังกล่าวไม่มีการระบุชนิดหรือประเภทของเหล็กและอลูมินัมที่ชัดเจนและอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ผลิตเหล็กและอลูมินัมแต่ละชนิดหรือประเภทเสียหายอย่างไร หากมีการกำหนดใช้มาตรการจะเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมเหล็กในวงกว้าง ทั้งผู้ผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำเข้าหรือผู้ใช้ของสหรัฐฯ เองก็อาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการกำหนดใช้มาตรการกับสินค้าเหล็กและอลูมินัมทุกชนิดทุกประเภท ซึ่งอาจจะมีบางชนิดหรือบางประเภทที่อุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้แต่ไม่ผลิต ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ภาระจึงตกไปอยู่กับผู้ใช้ภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในกรณีที่สหรัฐฯ มีการกำหนดใช้มาตรการภายใต้มาตรา 232 ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าเหล็กและอลูมินัมไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ท่อ เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2558 ปี 2559 และปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล็กไปสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 2,998 3,835 และ 10,479 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนการส่งออกสินค้าอลูมินัมมีมูลค่า 7,602.8 8,133.7 และ 7,608.0 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยเป็นสินค้าชนิดหรือประเภทที่ไม่มีการผลิตภายในสหรัฐฯ หรือมีความจำเป็นต้องนำเข้า ก็อาจได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากเป็นการกำหนดใช้มาตรการกับสินค้าดังกล่าวที่นำเข้าจากทั่วโลก
นายวันชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์การใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการวางแผนรับมือและลดผลกระทบจากการใช้มาตรการของสหรัฐฯ ในอนาคตได้อย่างทันท่วงที