สศก. เผย ผลโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ปี67 สำเร็จตามเป้า 100 ตำบล นำร่อง 144 กลุ่มสินค้าสามารถแก้ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เพิ่มรายได้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง“1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการตามหลักการ“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้”โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ตำบลอย่างแท้จริง
โดยโครงการฯ กำหนดเป้าหมาย500 ตำบลโดยมีเป้าหมายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100 ตำบล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 200 ตำบล และปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 200 ตำบล เพื่อส่งเสริมพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง
สำหรับกรอบแนวทางการขับเคลื่อนและจำแนกประเภทกลุ่มสินค้าและบริการประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ
1)กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออกเป็นสินค้าที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มจำหน่าย โดยมีผลผลิตสู่ตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ 2)กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีตลาดภายในประเทศมีการจำหน่ายเป็นผลผลิตโดยตรงหรือมีการแปรรูป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจะส่งออกสูง 3)กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ เป็นสินค้าที่สะท้อนเอกลักษณ์และเสน่ห์ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน
ผลการดำเนินโครงการฯ สศก. พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย100ตำบล โดยคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตรมูลค่าสูงนำร่อง จำนวน144กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าและบริการด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ 84 กลุ่ม ด้านปศุสัตว์ 37 กลุ่ม และด้านประมง 23 กลุ่ม และจำแนกผลการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนในแต่ละประเภทกลุ่มสินค้าและบริการเพื่อพัฒนายกระดับสินค้าทั้ง3กลุ่ม ได้ดังนี้
1) กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออกดำเนินการได้ 95 กลุ่ม อาทิ ข้าวอินทรีย์ กล้วยหอมทอง ทุเรียน มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวน้ำหอม มังคุด ปลากะพงขาว
2)กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงดำเนินการได้ 46 กลุ่ม อาทิ สับประรด โคขุนคุณภาพ เนื้อโคแช่แข็ง เนื้อพร้อมปรุง ปลานิลสด ปลากระพงขาว
และ3)กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ดำเนินการได้ 2 กลุ่ม คือด้านปศุสัตว์ได้แก่ โคเนื้อ ของแปลงใหญ่โคเนื้อและพืชอาหารสัตว์เลาขวัญ จ. กาญจนบุรี และโคเนื้อโคราชวากิว ของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ จ. นครราชสีมา โดยการพัฒนาหญ้าเนเปียรที่เป็นอาหารของโคเนื้อให้มีคุณภาพ สำหรับด้านประมงได้แก่ กุ้งก้ามกราม ของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพ จ. ราชบุรี เป็นการพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพ
ด้านนางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า จากที่ศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ 15 จังหวัด พบว่า หน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ในการรวบรวมปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการผลิตและการตลาด รวมถึงปัญหาอื่น ๆ (Pain Point)
อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาด้านการตลาดที่เกษตรกรมีความต้องการขยายตลาดจำหน่ายผลผลิต โดยเจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้ร่วมจัดทำแผนพัฒนารายสินค้า (Action Plan)ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่น จัดทำแผนการลดต้นทุนจากปัจจัยการผลิต ทำแผนการผลิตปุ๋ยหมักหรือสารชีวภัณฑ์ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่มีราคาจำหน่ายสูง หรือทำแผนลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และที่สำคัญยังมีการจัดทำแผนพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเช่น การแปรรูปข้าว เนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น
สำหรับแผนการเพิ่มผลผลิต พบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ได้ให้ความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับเกษตรกรด้วยเช่นกัน
กลุ่มเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากสินค้าของกลุ่มตนเองได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ และได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งนี้เกษตรกรมีความต้องการให้สนับสนุนด้านตลาด เช่น การจัดหาตลาดใหม่ๆ การสนับสนุนการจัดทำ Roadshow เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า การเพิ่มผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ยังมีความต้องการการสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต และยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับเกษตรกร เนื่องจากการผลิตบางสินค้ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงที่สำคัญต้องเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมอาชีพหลังฤดูการผลิต เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนเกษตรกรในช่วงที่ไม่ได้ทำการผลิต จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริมนี้