ความเชื่อมั่นจะกลับมาก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยมีอนาคต คือมี GDP growth สูงขึ้นมากกว่านี้ รัฐบาลต้องใช้นโยบายภาพรวม คือ ลดดอกเบี้ยที่แท้จริงลง, ปรับค่าเงินบาทให้แข่งขันได้ การใช้จ่ายรัฐบาลอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอและมีข้อจำกัด
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า
1.การฟื้นเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำมากว่า 10 ปี และการฟื้นตลาดหุ้น จะต้องฟื้นที่ความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นจะกลับมาได้ ต้องทำให้ประเทศมีอนาคต คือมี GDP growth สูงกว่านี้มาก GDP จะเพิ่มสูงขึ้นได้ ก็ต้องไปเพิ่ม Potential GDP คือเพิ่มการใช้ Smart เทคโนโลยีของเอกชน และ Smart infrastructure ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มได้เร็วขึ้น ก็ต่อเมื่อเอกชนส่งออกแล้วมีรายได้มากขึ้น รัฐบาลจึงจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
2.การที่จะทำให้มีรายได้และภาษีสูงขึ้น ก็ต้องปรับค่าเงินบาทให้อ่อนลงให้แข็งขันได้ ปรับดอกเบี้ยที่แท้จริงให้ลดลง และปล่อยเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เป็น 3-3.5%, การส่งออก, การลงทุนเอกชน ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ GDP growth สูงขึ้น
3. อริยสัจแห่งปัญหาคือ ค่าเงินบาทแข็งเกินไปมาก, ดอกเบี้ยแท้จริงสูงไป, เงินเฟ้อต่ำไป จึงควรแก้ที่เหตุแห่งปัญหา หากรัฐบาลไปแก้ที่ผล เช่น การบริโภคน้อยไป หนี้ครัวเรือนสูงไป โดยการเพิ่มรายจ่ายรัฐบาล ก็จะแก้ได้ไม่มากนัก
4. ปริมาณเงินบาทในระบบมีน้อยเกินไปมาก เพราะดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยลบด้วยเงินเฟ้อ) สูงเกินไป ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไปด้วย เช่น แข็งกว่าอินเดีย 2.58 เท่า, เวียดนาม 1.6 เท่า, แข็งกว่าเพื่อนบ้านมาก และแข็งกว่าเกือบทุกประเทศในโลกใน 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจเราแย่ จึงเป็นการแข็งค่าปลอมๆ ด้วยมาตรการผิดๆ
5. แต่ส่งผลให้การส่งออกตกต่ำ การลงทุนเอกชนน้อยลง การผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ รัฐบาลได้ภาษีน้อย รัฐบาลและครัวเรือนจึงเป็นหนี้มากมาย
6. ปัจจุบัน เรามี GDPประมาณ 18 ล้านล้านบาท, ส่งออกสินค้าและบริการ 12 ล้านล้านบาท หากเราแก้ปัญหาด้วยการปรับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นตัวแปรนโยบาย เช่น อ่อนลง 10% จาก 33 บาทต่อ$ เป็น 36.3 บาทต่อ$ ก็จะทำให้การส่งออกฯ ที่ได้เป็นเงิน $ มาแล้ว เปลี่ยนเป็นเงินบาทได้เพิ่มขึ้น 10% คือเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ยังไม่รวมปริมาณการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต)
7. ผลของมาตรการนี้อย่างเดียว มีมากกว่ารัฐไปกู้เงินเพิ่มมาสนับสนุนการใช้จ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและบริการ เป็นตัวแปรตัวเดียวที่เป็นรายได้ ในสมการ Y=C+I+G+X-M ตัวแปรอื่นๆ เป็นรายจ่าย ซึ่งหากจ่ายมากขึ้น ก็จะต้องเป็นหนี้มากขึ้นด้วย ดร. สุชาติ กล่าว