สศค.คงประมาณการณ์จีดีพีปี 67 ขยายตัว 2.7% จากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวและส่งออก คาดจีดีพีปี 68 เร่งตัวขึ้นเป็น 3% เล็งประสานนโยบายการเงินหนุนเศรษฐกิจขยายตัว เพิ่มลงทุน กระตุ้นบริโภค
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 ถึง 3.2%) คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อนและนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.9%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวน 36.0 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน
"แม้จะเผชิญแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งคาดการณ์มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจากทุกภาคส่วนราว 4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะภาคการเกษตรและท่องเที่ยว แต่ผลจากมาตรการต่างๆ ของรัฐได้ชดเชยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น" นายพรชัย กล่าว
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.9% เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากโอกาสของผู้ประกอบการไทยแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8% อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัวที่ -1.9% เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือโดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนอยู่ที่ 0.6% เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อต่ำยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด เนื่องจากเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP
คาดจีดีพี ปี68 โต 3%
สำหรับในปี 2568 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5 ถึง 3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลักคือ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9 ต่อปี% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.4 ถึง 3.4%) ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.6 ถึง 3.6%)
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39.0 ล้านคน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ รวมถึงมีแรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 2.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.7 ถึง 2.7%)
นายพรชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2568 การลงทุนจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ต่อปี จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันและกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน
ลดความร้อนแรงการคลัง
ขณะเดียวกัน บทบาทสำคัญของกระทรวงการคลังในปี 2568 จะมีการดำเนินนโยบายการคลังเชิงบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Discipline and Stability) ผ่านการบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
นายพรชัย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด ได้มีการทำความเข้าใจตรงกันว่ากระทรวงการคลังจะลดบทบาทและความร้อนแรงของการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะและเป็นความเสี่ยงการจัดการภาระทางการคลังในอนาคต โดยคาดหวังให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2569 ให้อยู่ที่ประมาณ 3%
ปัจจุบันตามแผนการคลังระยะปานกลาง งบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท มีการตั้งขาดดุลงบฯ อยู่ที่ 4.5% GDP และปี 2569 อยู่ที่ 3.5%
เร่งนโยบายการเงินหนุนนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธปท.จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมให้มีการลงทุนภาคเอกชน กระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ภายใต้การใช้เครื่องมือและนโยบายทางการเงิน
ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย. นี้ เพื่อพิจารณามาตรการเร่งเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยจะมีแพ็คเกจของขวัญปีใหม่
รวมทั้งการใช้มาตรการกึ่งการคลังควบคู่กับมาตรการการเงินเร่งการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้าเพื่อให้บรรลุกรอบเป้าหมาย GDP ขยายตัว 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2%