นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน เดินหน้าขยายผล Social Impact เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง จึงจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่นชื่อว่า “GOOD MONEY-เงินดีดีเพื่อคนไทย แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อความเท่าเทียมในสังคม”
แอปดังกล่าวจะดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท เงินดีดี จำกัด ที่เป็น Nonbank กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน เพื่อเป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ จะดึงคนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน
“เป้าหมายเราไม่ต้องกำไรสูงสุด แต่อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อส่งให้กับรัฐบาล โดยเป้าหมายหลักคือ การดึงคนเข้าสู่ระบบ หวังว่าบริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น GOOD MONEY จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยคนฐากรากมากขึ้น ทั้งนี้ ประเมินว่าจะช่วยประชาชนได้ 1-2 แสนคน/ปี และตั้งเป้าพอครบ 4 ปี จะสามารถปล่อยกู้ได้ 5 แสนคน”
นางสาวสิรินันท์ จิรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินดีดี จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Loan)
สำหรับอัตราการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 30,000-50,000 บาท/คน สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยเกณฑ์ในการพิจารณาจะใช้สลิปเงินเดือน และสเตตเมนต์ อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มต้นที่ 19-25% ต่อปี ส่วน Nano Finance ให้กู้สูงสุด 1 แสนบาท/ราย สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยระหว่าง 29-33% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง นอกจากนี้ หากประชาชนที่มีการชำระหนี้ได้ดีติดต่อกัน จะมีการคัดบุคคลเหล่านั้นเข้าไปขอสินเชื่อในธนาคารออมสินต่อได้
“ยังมีการใช้ระบบการประเมินคุณสมบัติผู้ขอกู้ที่พิจารณาจากอัตราส่วนภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) และอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อให้มั่นใจว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้โดยไม่เกิดปัญหาหนี้เกินตัว สำหรับคนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงินที่ดี”
นางสาวสิรินันท์กล่าวว่า หลังได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ได้ทดลองเปิดใช้ระบบตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาโดยมีผู้สนใจใช้บริการยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่นแล้วกว่า 100,000 ราย
“บริษัทเชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในการสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีและยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกอาชีพไปด้วยกัน” นางสาวสิรินันท์กล่าว