นายมนต์ชัย ตะโหนด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยมีตัวเลขยอดผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับเข้ามา เทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้วเฉลี่ยวันละประมาณ 30,000 คน ส่วนผู้โดยสารภายในประเทศ เฉลี่ยวันละ 17,000-19,000 คน ภาพรวมทั่วไปเรากลับมาสู่สภาพก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว ผู้โดยสารจำนวนมากเริ่มเดินทางเข้ามาแล้ว ยกเว้นผู้โดยสารจากจีน ที่เคยเดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 1 ยังไม่เป็นไปตามเป้า แต่มีผู้โดยสารจากยุโรปและรัสเซียเข้ามาแทน ทั้งนี้ ช่วงพีกสุดของไฮซีซั่น นับตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเทศกาลที่ผู้โดยสารเดินทางค่อนข้างมาก อาทิ คริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ส่วนเที่ยวบินอยู่ที่ 300 เที่ยวบินต่อวันขึ้นไป ในขณะที่ศักยภาพของท่าอากาศยานภูเก็ต สามารถรองรับได้ถึง 600 เที่ยวบินต่อวัน โดยในปีงบประมาณ 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 16 ล้านคน ขณะที่ยอดสูงสุดที่เคยรับอยู่ที่ 18 ล้านคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีงบประมาณ 2568 ยอดผู้โดยสารทั้งหมดจะไม่น้อยกว่า 18 ล้านคน
ท่าอากาศยานภูเก็ตมีความพร้อมรับเที่ยวบินใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ซึ่งสายการบินที่เข้ามาใหม่ เช่น สายการบินจากซาอุดีอาระเบีย ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยบินตรงจากริยาดเข้ามาภูเก็ต โดยเริ่มบินตรงเข้ามาภูเก็ตตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ และสายการบินของแอร์เอเชียเอ็กซ์ (XJ) ซึ่งเดิมการเดินทางด้วยสายการบินดังกล่าวจะต้องไปที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ (XJ) จะมารับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานภูเก็ตบินตรงไปคาซัคสถานได้
นายมนต์ชัยกล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตได้งบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาทแล้ว ในการต่อเติมตัวอาคาร ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างผู้มาออกแบบรายละเอียด
คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการออกแบบ หลังจากปี 2568-2569 จะเริ่มการก่อสร้าง ใช้เวลา 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ประมาณปี 2571-2572 จะได้อาคารระหว่างประเทศหลังใหม่ จำนวนผู้โดยสารที่ออกแบบไว้ 12.5 ล้านคนต่อปี จะขยับไปที่ 18 ล้านคนต่อปี ขณะที่เคยรับจำนวน 18 ล้านคนต่อปีมาแล้ว เหมือนกับเป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารที่เคยหนาแน่นในอดีตให้มีการเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้น ในส่วนความคืบหน้า ท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน หรือสนามบินอันดามัน แห่งที่ 2 ที่จังหวัดพังงา เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากการลงทุนในเรื่องสนามบินต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง สนามบินอันดามันเป็นสนามบินหลัก ที่งบประมาณเตรียมไว้ 80,000 ล้านบาท มีพื้นที่ประมาณ 7,500 ไร่ เดิมออกแบบเป็น 2 ทางวิ่ง ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตมีเพียง 1 ทางวิ่ง ขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ตอนนี้ได้จ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการไปได้เดือนกว่าแล้ว จะใช้เวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะมีบทสรุป นำเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับทราบและกำหนดนโยบายต่อไป
นายมนต์ชัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสนามบินภูเก็ตค่อนข้างเล็ก มีพื้นที่ 1,400 ไร่ ซึ่งพยายามใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุดสามารถบริหารพื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพในเรื่องการจอดรถ ถ้าเป็นหน้าอาคาร ผู้โดยสารในประเทศ เดิมจอดรถระดับพื้นดิน จะมีการออกแบบเป็นอาคารจอดรถขึ้นมา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา และถ้ามีความคุ้มค่าดำเนินงานมีความต้องการของประชาชนจะได้ดำเนินการต่อไป ส่วนปัญหาที่จอดรถแอปพลิเคชั่นจำนวนผู้โดยสารค่อนข้างมาก จำนวนผู้ให้บริการมากตามไปด้วย จึงมีการจอดรถที่ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ยังไม่ได้ทำการลงทะเบียนหรือขออนุญาตเข้ามาจอดข้างในจะใช้พื้นที่จอดรถทางด้านหน้าเป็นพื้นที่ที่เป็นขาวแดง ทางสถานีตำรวจภูธร สาคู (สภ.สาคู) ดำเนินการจับกุมเป็นระยะ โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 67 เป็นการเริ่มต้นการปรับจราจรใหม่ มีการแบ่งเลนชัดเจนผู้ที่เคยจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด ขาวแดงก็ไม่สามารถจอดได้
การทดลองดำเนินงานที่ผ่านมา 2-3 วันดำเนินการได้ผลค่อนข้างดีการเข้าพื้นที่ของสนามบินภูเก็ต ใช้เวลาน้อยสะดวกมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องหารือกับตำรวจท้องที่ ควรจะมีที่สำหรับอู่รถคือต้องเรียนว่าไม่สามารถเอารถทั้งหมด ไปอยู่ในสนามบินได้เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ถ้าผู้โดยสารพร้อมแล้วจึงเอารถเข้ามารับ แต่ไม่สามารถมาจอดรอในสนามบินได้
เรื่องนี้จะต้องหารือร่วมกันกับทางจังหวัดทางขนส่งจังหวัดและตำรวจ ส่วนการจัดระเบียบรถสาธารณะ มีการดำเนินการเป็นศูนย์ขนส่งสาธารณะเป็นการรวมกันระหว่างแท็กซี่มิเตอร์แท็กซี่ Application รถประจำทาง สามารถใช้พื้นที่อินดอร์ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย”