รัฐบาลคาด นทท.ช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 67 คึกคัก ยอดจองเที่ยวบินพุ่ง 36% จากปีก่อน ตลอดเดือน พ.ย มีจำนวน 73,500 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,450 เที่ยวบิน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เทศกาลลอยกระทงปี 2567 มีหลายจังหวัดจัดกิจกรรม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้คาดการณ์เที่ยวบินเดือน พ.ย.67 ทั้งสิ้น 73,500 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,450 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 โดยในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2567 มีสนามบินที่มีปริมาณเที่ยวบินมากที่สุด 6 อันดับ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ 6,170 เที่ยวบิน สนามบินดอนเมือง 3,760 เที่ยวบิน สนามบิน 1,840 เที่ยวบิน สนามบินเชียงใหม่ 1,100 เที่ยวบิน สนามบินสมุย 440 เที่ยวบิน และสนามบินอื่น ๆ 230 เที่ยวบิน
“การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเป็นสิ่งที่ควรสืบทอด แต่ในขณะเดียวกัน ความปลอดภัยของอากาศยานที่ขึ้น-ลง ในช่วงเวลานั้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามข้อบังคับในการปล่อยโคมลอย โคมควัน ตามช่วงเวลาที่หน่วยงานราชการของแต่ละจังหวัดกำหนด ซึ่งจะสัมพันธ์กับการปรับตารางการบินของสายการบินต่าง ๆ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการจัดการในช่วงเทศกาลที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยทางการบิน” นายคารม ระบุ
นายคารม กล่าวว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลยี่เป็ง ซึ่งตรงกับวันที่ 15 พ.ย. 2567 หน่วยงานหรือประชาชนในบางพื้นที่อาจมีการจัดกิจกรรมปล่อยโคมลอย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการทำการบินได้ ดังนั้น ขอย้ำเตือนอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน พลุ ตะไล บั้งไฟ ดอกไม้ไฟ ลูกโป่ง รวมถึงการปล่อยโดรน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน และการมองเห็นของนักบิน ได้แก่ เครื่องบินสูญเสียการควบคุม ทำให้เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ หรือ หากเข้าเครื่องยนต์หรือโดนถังน้ำมันเครื่องบิน อาจเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง บดบังทัศนวิสัยของนักบินและรบกวนสมาธิของนักบิน ตลอดจนการฉายลำแสงเลเซอร์ขึ้นบนท้องฟ้า (Laser Beam) ซึ่งรบกวนสายตาของนักบิน ขอความร่วมมือประชาชนงดการจุด และปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ตามมาตราที่ 59/1 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ได้ห้ามไว้ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษสูงสุด คือจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการทำให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหาย จนไม่สามารถทำการบินได้หรืออาจเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 800,000 บาท