The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) หรือคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ได้ประกาศ ในการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ COP16 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ เมือง Cali ประเทศโคลอมเบีย ว่า บริษัทในโลกมากกว่า 500 บริษัท ซึ่งโดยรวมแล้วมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากกว่า 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ มีความมุ่งมั่นที่จะรายงานความเสี่ยงด้านที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพตามกรอบของ TNFD
TNFD คือความคิดริเริ่มระดับนานาชาติ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนากรอบการทำงานเพื่อให้บริษัทและองค์กรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “ธรรมชาติ” ทั้งการพึ่งพาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนวิธีจัดการกับปัญหาของบริษัทนั้นๆ คล้ายคลึงกับกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “สภาพภูมิอากาศ” หรือ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้
จำนวนองค์กรที่ประกาศในครั้งนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยเพิ่มจากจำนวน 320 บริษัท เมื่อต้นปี 2567 ถือเป็นการพัฒนาความพยายามขององค์กร ในการจัดทำรายงานที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการกํากับดูแล กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ
โดยที่การฟื้นฟูธรรมชาติเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกเร่งดำเนินการ ปัจจุบัน หลายประเทศใช้ Nature-based Solution เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งภาคธุรกิจต้องจับตามองและตั้งรับให้ทัน เพราะในอนาคต นโยบายรวมถึงกฏกติกาต่างๆ จะเปลี่ยนไปอ้างอิงธรรมชาติมากขึ้น และผู้เล่นที่ปรับตัวตามทันจะเป็นผู้นำในสนามการค้า
Nature-based Solution ถูกนิยามขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อ 20 ปีก่อน โดยตั้งอยู่บนหลักการว่า ธรรมชาติคือระบบที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม Nature-based Solution จึงเป็นแนวทางที่เลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงความมั่นคงของน้ำและพื้นดิน
ในระดับนานาชาติ สหภาพยุโรปได้รับรองยุทธศาสตร์ Biodiversity Strategy for 2030 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง ฟื้นฟู และปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนบริการทางระบบนิเวศในสหภาพยุโรป โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์คือ การบูรณาการ Nature-based Solution เข้ากับนโยบายด้านอื่นๆ ทั้งหมด เช่น ด้านการเกษตร ผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และอากาศ
สำหรับประเทศไทย มีการนำแนวคิด Nature-based Solution มาสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวแล้วเช่นกัน เช่น การออกแบบสวนป่าเบญจกิติที่อ้างอิงภูมิศาสตร์ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยสวนแห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นฟองน้ำซึมซับน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ทัน และอาจท่วมขังพื้นที่เมือง นอกจากนี้พรรณไม้แบบป่าชายเลน แบบที่ลุ่มน้ำ และแบบบึงน้ำจืดที่ปลูกผสมผสานกันยังช่วยบำบัดและเพิ่มออกซิเจนให้น้ำที่ถูกกักเก็บไว้
TNFD เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2564 การดำเนินงานตามกรอบของ TNFD จะเป็นประโยชน์ต่อโลกธุรกิจ ในหลายมิติ อาทิ
นอกจากนั้น TNFD ยังเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้บริษัทได้เห็นโอกาสในธุรกิจใหม่ ที่สามารถเติบโตและสร้างผลกำไรระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ กรอบการทำงานที่มีธรรมชาติเป็นแกนกลางนี้ จะช่วยปรับระบบการเงินโลก ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อโลกธรรมชาติและเศรษฐกิจสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างสมดุล
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก Global Compact Network Thailand
และ ESG Today info@esgtoday.com