วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มชุมชนสองแคว 1 และชาวบ้านในเขตเทศบาลนครแม่สอด และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ จำนวน 100 คน นำโดย นายสมควร พรมมา ประธานชุมชนสองแคว 1 ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมี นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อม นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)
นายสมควร กล่าวว่า เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่ อ.แม่สอด เนื่องจากบ่อขยะซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ต.แม่ปะ ที่เทศบาลนครแม่สอดดำเนินการมากว่า 30 ปี ซึ่งนอกจากขยะที่เทศบาลนครแม่สอด ดำเนินการจัดเก็บแล้ว ยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใกล้เคียงและต่างอำเภอ ทั้งในเขต อ.พบพระ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง ยังนำขยะมาทิ้งอีกวันละไม่ต่ำกว่า 150 ตัน ซึ่งนับวันขยะเพิ่มมากขึ้น ถึงวันนี้มีขยะตกค้างไม่ต่ำกว่า 600,000 ตัน กองสูงเท่ากับตึก 2 ชั้น ส่งกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสีย กระทบต่อชีวิตชาวบ้านบริเวณโดยรอบ และจากปัญหาขยะล้นส่งผลให้ทางเทศบาลนครแม่สอด ไม่สามารถทิ้งขยะได้เพิ่มอีกในปี 2568
นอกจากนี้ยังทราบว่าเทศบาลนครแม่สอดได้ดำเนินการให้บริษัทเอกชน คือ บริษัท คลีนแพลนนิ่ง จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดเล็กโดยใช้ขยะในชุมชนเป็นเชื้อเพลิงเผา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 6.0 เมกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ คาดเปิดใช้ได้ต้นปี 2568 แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้า ส่งผลให้โครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันตามกำหนดในปี 2564 รวมถึงยังติดขัดที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยกเลิกสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าระหว่างบริษัทกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้ขอให้มีการขยายสัญญาออกไป แต่ กกพ. ยังไม่มีมติให้ขยายเวลา ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงประธานกรรมการกำกับกิจการ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการพิจารณาขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้กับโครงการ และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาบ่อขยะล้นในพื้นที่ บริษัทจึงได้ยื่นอุทธรณ์เรื่องดังกล่าวไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้ว
“พวกผมจึงเห็นว่าหากยังไม่มีการต่อสัญญาการซื้อขายกระแสไฟฟ้า ระหว่างบริษัท คลีนแพลนนิ่ง จำกัด กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ยังจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เพราะขยะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนคือชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน”
จากนั้น นายสงคราม ได้ประชุมร่วมกับชาวบ้าน พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป.