กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพ.ย.6,266 ราย เพิ่มขึ้น 4.80% ทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 11 เดือน รวม83,219 ราย เพิ่มขึ้น 2.37% ส่งสัญญาณบวกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนท่องเที่ยว มาตรการรัฐ ใกล้แตะเป้าหมายที่ 9 หมื่นราย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน พ.ย.2567 มีจำนวน 6,266 ราย เพิ่มขึ้น 4.80% ทุนจดทะเบียน 24,219.88 ล้านบาท ลดลง 4.17% ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 ราย คือ บริษัท วัฒนาเวชวิวัฒน์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,241 ล้านบาท บริษัท หย่าตง (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และบริษัท ซิโน-ไทย เทคโนโลยี อินดัสเทรียล ปาร์ค กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ส่วนภาพรวมการจัดตั้งใหม่รวม 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวน 83,219 ราย เพิ่มขึ้น 2.37% ทุนจดทะเบียน 262,850 ล้านบาท ลดลง 51.93% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมกิจการ คือ ทรูกับดีแทค และแปรสภาพบิ๊กซีเป็นบริษัทมหาชน โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ในช่วง 11 เดือน คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารอย่างไรก็ตาม ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีการจัดตั้งธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 14 ราย เช่น กิจการค้าส่งและค้าปลีก จำหน่ายแว่นตาและอุปกรณ์ และกิจการ Data Center
ขณะที่ การจดทะเบียนเลิก เดือน พ.ย.2567 มีจำนวน 2,852 ราย เพิ่มขึ้น 9.36% ทุนจดทะเบียน 10,173 ล้านบาท ลดลง 41.44% โดยจำนวนธุรกิจเลิกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นปกติของไตรมาสสุดท้ายที่บริษัทที่ไม่ประสงค์จะทำการต่อ แจ้งเลิก เพราะต้องการทำบัญชีให้แล้วเสร็จภายในรอบปีบัญชีนั้น และไม่เป็นภาระทำบัญชีในปีถัดไป ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ส่วนยอดรวมเลิกกิจการ 11 เดือน มีจำนวน 17,614 ราย ลดลง 1.37% ทุนจดทะเบียน 136,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.32% เพราะในช่วง 11 เดือน มีธุรกิจทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท เลิกกิจการรวม 10 ราย เช่น โทรคมนาคม โรงงานผลิตจำหน่ายให้เช่าเทปคลาสเซ็ท แผ่นเสียง และค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ในช่วง 11 เดือน ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
“คาดว่าการจดทะเบียนในเดือน ธ.ค.2567 จะมียอดจดประมาณ 4,000-5,000 รายและเมื่อรวมกับยอด 11 เดือนที่ตั้งใหม่ 83,219 ราย ก็จะทำให้ยอดการจดทะเบียนทั้งปีอยู่ 88,000 - 89,000 ราย ซึ่งจะใกล้เคียงกับ เป้าที่กรมตั้งไว้ที่ประมาณ 90,000 ราย เพิ่ม 5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการจดทะเบียนตั้งใหม่ของปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยฟื้นตัว มีการตั้งโรงงานเพิ่มในหลายภูมิภาค และรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง”นางอรมน กล่าว
สำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 30 พ.ย.2567 จำนวน 944,008 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.50 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 740,373 ราย หรือ 78.43% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.31 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 202,152 ราย หรือ 21.41% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,483 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.72 ล้านล้านบาท
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติ เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดย 11 เดือนแรก มีจำนวน 884 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,671 คน
ส่วน การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 134% มูลค่าการลงทุน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 158% เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาท ฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น