เมื่อเร็วๆนี้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สภาพแวดล้อม ทิศทางและนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาไทย” ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และทดลองนั่งรถตุ๊กๆ ไฟฟ้า ฝีมือการวิจัยและผลิตโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นอกจากนี้ได้เน้นย้ำการปรับตัวครั้งใหญ่ของโลกในศตวรรษที่21 การปรับตัวเป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ การปรับนโยบายและเส้นทางการผลิตไปสู่ภาคส่วนที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรและการขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่อาศัยองค์ความรู้ ที่สำคัญด้านการศึกษาไทยต้องมุ่งเน้นการเรียนรู้ยุคใหม่ โดยให้การเรียนและการทำงานเป็นสิ่งเดียวกัน เน้นรูปแบบสื่อการเรียนรู้แบบใหม่ทั้งออนไลน์ ดิจิทัลเป็นรูปแบบสำคัญเพื่อการเรียนรู้และการทำงาน
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับและได้รับบรรยายความรู้พิเศษจากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมีพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการเป็น Practice-University ที่ให้ความรู้และพัฒนาทักษะแก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเรียนคณะใด นักศึกษาทุกคนเมื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถทำงานใช้นวัตกรรมและดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ หรือที่เรียกว่า IDE (Innovation Driven Entrepreneurship) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ”
“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคน จากทุกคณะและสาขา ฝึกฝนทักษะพื้นฐานการโค้ด (Coding) หรือ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สมัยใหม่ โดยมีการเปิดสอนวิชา GE201 การคิดเชิงนวัตกรรมทางดิจิทัลและการโค้ด (Digital Innovative Thinking and Coding) เพราะเทคโนโลยีที่เราใช้ประโยชน์กันทุกวันนี้ เบื้องหลังต้องเกี่ยวข้องกับการ Coding ทั้งนั้น วิชานี้จะช่วยฝึกให้นักศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ และสามารถสร้างคำสั่งให้โปรแกรมทำงานให้ตามที่เราต้องการได้ หากผู้ประกอบการมีทักษะการ Coding จะช่วยให้พวกเขาต่อยอดความคิดไปได้ไกลกว่าเดิม สามารถสร้างสรรค์โซลูชั่นต่างๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสังคมได้ในอนาคต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติม