ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คมนาคม ล้มแผนโอนย้ายสิทธิ์ ทอท.บริหาร 3 สนามบินภูมิภาค
06 มี.ค. 2568

"คมนาคม" ล้มแผนโอนสิทธิ์บริหาร 3 สนามบินภูมิภาคให้ ทอท. หันพัฒนาบริการผู้โดยสาร หวังเป็นสนามบินหลักสร้างรายได้ ระบุแผนสร้างสนามบินใหม่ต้องเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน PPP

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนสิทธิบริหาร 3 ท่าอากาศยานภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยระบุว่า หลังจากเข้ามากำกับดูแล ทย. ซึ่งรับผิดชอบดูแลท่าอากาศยานภูมิภาค 28 แห่ง พบว่าท่าอากาศยานแต่ละแห่งมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน เช่น ท่าอากาศยานหัวเมืองท่องเที่ยวหลักก็สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนท่าอากาศยานเมืองรองก็รองรับส่งต่อผู้โดยสารภายในประเทศ

ส่วนภาพรวมรายได้ของ ทย. ส่วนใหญ่ยังมาจากท่าอากาศยานกระบี่ มีกำไรถึง 180 ล้านบาท สนามบินอุดรธานี ซึ่งมีกำไร 30 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานขอนแก่น และท่าอากาศยานอุดรธานี มีกำไรรวมกว่า 40 ล้านบาท โดยกำไรจากการบริหารท่าอากาศยานเหล่านี้ ทย.จะนำไปบริหารจัดการค่าใช้จ่าย อุดหนุนในส่วนของท่าอากาศยานที่ขาดทุน

รวมทั้งพัฒนาบริการท่าอากาศยานภูมิภาคให้รองรับต่อการบริการผู้โดยสารภายใต้คอนเซ็ปต์ "สนามบินมีชีวิต" ซึ่งต้องพร้อมในด้านบริการผู้โดยสาร มีอัตลักษณ์ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และภาคขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อท่าอากาศยานและแหล่งท่องเที่ยว

“ต้องยอมรับว่าการดำเนินงานบริหารสนามบินทั้ง 28 แห่งของภาครัฐ ยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ผลประกอบการรวม 28 สนามบินในปีที่ผ่านมาพบว่ามีรายได้ และทำกำไรประมาณ 250 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายมีจำนวนรวม 330 ล้านบาททำให้ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท ดังนั้นกระทรวงฯ พิจารณาแล้วว่า ทย.พัฒนาท่าอากาศยานทั้งหมดและบริหารรายได้จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมทุกสนามบินให้ยืนอยู่ได้ ท้ายที่สุดก็ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล”

ขณะเดียวกันตนได้มอบหมายให้ทุกท่าอากาศยานจัดตั้งคณะทำงานบูรณการร่วมกับทุกภาคส่วนในท้องถิ่น โดยมีหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อให้การต่อยอดการพัฒนาท่าอากาศยานและท้องถิ่นควบคู่กันไป เช่น การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะของท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์กิจกรรมและประเพณีของท้องถิ่น

รวมไปถึงการนำสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนมาจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และสั่งการให้ ทย.บริหารสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลให้มีความหลากหลายมากขึ้น หากดำเนินการสิ่งเหล่านี้คาดว่าจะทำให้ ทย.มีรายได้เพิ่มประมาณ 30%

นางมนพร กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าหากแต่ละท่าอากาศยานบริหารจัดการให้เป็นสนามบินมีชีวิต ตอบโจทย์บริการผู้โดยสาร พร้อมทั้งบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์บริหารรายได้ให้มีศักยภาพ จะทำให้แต่ละท่าอากาศยานมีรายได้และทำกำไร

ดังนั้นตนจึงมีนโยบายที่จะชะลอแผนการโอนสิทธิ์บริหาร 3 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จากเดิมที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2565 เห็นชอบในหลักการให้มีการโอนสิทธิ์ดังกล่าวไปอยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.

อีกทั้งแผนพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ระหว่างการศึกษา ได้มอบหมายให้ ทย.ศึกษารูปแบบการลงทุนโดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) อาทิ ท่าอากาศยานพะเยา ท่าอากาศยานบึงกาฬ ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์ และท่าอากาศยานพัทลุง เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางลดงบประมาณการลงทุนของรัฐบาล เนื่องจากการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานในปัจจุบันใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่กลับพบว่ามีเที่ยวบินมาใช้บริการจำนวนไม่มาก ทำให้การลงทุนของภาครัฐไม่คุ้มค่า

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้หารือเรื่องการเข้าบริหารท่าอากาศยาน ทย. กับ ทอท. พร้อมทั้งพิจารณาข้อดีและข้อเสียของการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งพบว่าหากจะโอนย้ายสิทธิ์บริหารจำเป็นต้องดำเนินการหลายด้านทั้งเรื่องโอนย้ายบุคลากร สินทรัพย์และขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ ทำให้ จึงมีความเห็นตรงกันจะไม่โอนสิทธิบริหารให้ ทอท. เพราะนอกจากขั้นตอนที่ต้องดำเนินการแล้ว การโอนย้ายท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งยังเป็นแหล่งรายได้หลักของ ทย. ซึ่งหาก ทอท.เข้ามาดำเนินการจะทำให้เป็นภาระงบประมาณภาครัฐที่ต้องหามาบริหารท่าอากาศยานอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...