การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุม กรธ. ได้พิจารณาจำนวน ครม. โดยให้มีจำนวน 35 คน และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกตามสูตรเดิมของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรีที่จะต้องผูกโยงประเด็นการให้พ้นจากตำแหน่ง จึงได้กำหนดเงื่อนไขว่ารัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีความสุจริต เป็นที่ประจักษ์และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม เพื่อเป็นเกณฑ์ให้นายกฯ พิจารณา โดยยึดในประเด็นดังกล่าวเป็นหลัก เพื่อให้สังคมยอมรับ ไม่ใช่เอานายบ่อน หรือคนไม่ดีเข้ามาบริหาร นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีถูกตรวจสอบพบว่าไม่สุจริตมีปัญหาด้านจริยธรรม สามารถให้ผู้ที่พบเห็นสามารถร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งได้ เบื้องต้นยืนยันว่า กรธ. กำหนดให้ ส.ส. สามารถเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่เรื่องของนายกรัฐมนตรี ยังกำหนดให้ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 5 รายชื่อนั้น จึงได้กำหนดเกณฑ์ว่า พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติ ต้องได้จำนวน ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ เข้าใจว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองต้องมีการเจรจากับพรรคอื่น ๆ เพื่อรวบรวมเสียงข้างมากอยู่แล้ว ขณะที่เสียงโหวตของสภาผู้แทนราษฎร ยังได้ยึดเกณฑ์เดิม คือ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ กรธ. ได้ตัดประเด็นที่เคยกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่กำหนดว่า เมื่อพ้น 30 วัน นับจากการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกด้วยเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าฯ ชื่อบุคคลผู้ได้รับเสียงข้างมากเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น และหากคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีผ่านเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง อาจมีปัญหาต่อการยอมรับในสภาได้ ดังนั้นหากเกิดกรณีเสียงไม่ถึงเกณฑ์เกิดขึ้น พรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงมาให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้ในระยะเวลาหนึ่งก็อาจต้องยุบสภา
“นอกจากนี้ กรธ. ยังได้เตรียมวางหลักการเรื่องหน้าที่ของ ครม. เพื่อให้ ครม. มีความรับผิดชอบต่อสภาและการบริหาร ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ ให้มีกลไกเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง จนอาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและกลไกต่อการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” นายอุดม กล่าว