จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและอนุญาตให้สายการบินในประเทศทำการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease พร้อมนักบินต่างชาติเป็นการชั่วคราว (ปกติทำการบินภายในประเทศไม่ได้) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่สายการบินมีเครื่องบินและนักบินไม่เพียงพอกับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2568 ภายใต้ความไม่เห็นด้วยของสมาคมนักบินไทยมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศไทยมีนักบินที่รองานอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมนักบินจบใหม่จากโรงเรียนนักบินต่าง ๆ ที่ออกมาเกินความต้องการของตลาด จึงเชื่อว่าจำนวนนักบินไทยยังสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยได้
ล่าสุด นายธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยว่า สมาคมนักบินไทยยังคัดค้านต่อโดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองต่อศาลปกครองกลางเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนประกาศกระทรวงแรงงานและมติคณะรัฐมนตรี เรื่องอนุญาตให้นักบินต่างชาติสามารถบินในประเทศได้เป็นการชั่วคราว ผ่านแนวทางที่เรียกว่า Wet Lease คือการเช่าเครื่องบินพร้อมนักบิน และลูกเรือ รวมถึงช่างซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักบินไทยที่ปัจจุบันยังว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีนักบินไทยจำนวนมากที่ยังว่างงานและพร้อมปฏิบัติการบิน แต่การเปิดช่องให้นักบินต่างชาติเข้ามาทำงาน อาจเป็นการลดโอกาสในการจ้างงานของนักบินไทย ขณะเดียวกันการอนุญาตให้นักบินต่างชาติสามารถเข้ามาปฏิบัติการบินในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวยังขัดต่อกฎหมายแรงงานไทย ตามประกาศกระทรวงแรงงาน งานควบคุมอากาศยานภายในประเทศถือเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ยกเว้นกรณีบินระหว่างประเทศ
รวมทั้งมองว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวกระทบต่อมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินไทยในระยะยาว เพราะหากปล่อยให้แนวทาง Wet Lease กลายเป็นแนวปฏิบัติปกติอาจส่งผลให้สายการบินลดการลงทุนในการพัฒนานักบินไทย และกระทบต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ
“สมาคมนักบินไทยอยากขอเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการดังกล่าว และให้ความสำคัญกับนักบินไทยเป็นลำดับแรก ซึ่งพวกเราขอยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิของนักบินไทยทุกคน และขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินให้ร่วมกันแสดงจุดยืน” นายธีรวัจน์กล่าว และว่า
นอกจากนี้ การออกประกาศดังกล่าวยังขัดกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
โดยประกาศกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามคนต่างด้าวขับขี่เครื่องบินภายในประเทศ ตามมาตรา 7 ของพระราชกำหนดฯ อย่างไรก็ตาม มาตรา 14 ของกฎหมายเดียวกันอนุญาตให้มีข้อยกเว้นได้เฉพาะ 3 กรณีเท่านั้น คือ 1.เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ 2.เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และ 3.เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
“กรณีนี้แม้จะอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระดับที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ควรใช้มาตรา 14 เป็นเหตุผลในการออกข้อยกเว้น”
ส่วนพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 กำหนดชัดเจนว่า นักบินที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องมีสัญชาติไทย โดยอ้างอิงจากมาตรา 44 ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งกำหนดว่าผู้ประจำหน้าที่ต้องมีสัญชาติไทย และหากจะมีข้อยกเว้นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ซึ่งยังไม่มีการออกประกาศยกเว้นใด ๆ
“กรณีนี้การเช่าเครื่องแบบ Wet Lease ถือว่านักบินเป็นผู้ประจำหน้าที่ตามนิยามของพระราชบัญญัติการเดินอากาศ แต่กลับไม่มีการประกาศยกเว้นจาก CAAT ก่อน กระทรวงแรงงานและคณะรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวปฏิบัติหน้าที่นักบินในประเทศ ถือเป็นการออกประกาศที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายธีรวัจน์กล่าว