รองนายกฯวิษณุ ชี้แจงยังไม่เคาะใช้ "ม.44" อุ้มทีวีดิจิทัล แค่ "คสช." เห็นชอบหลักการ ตอบไม่ได้ว่าจะใช้มาตรา 44 ในการช่วยเหลือหรือไม่
โดยเมื่อวัมนที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ไปพูดคุยหารือกันเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการ ภาครัฐ ประชาชน รวมถึง ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนรายอื่นๆ ก่อนที่จะนำมาเสนอที่ประชุม คสช.อีกครั้ง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้มาตรา 44 ในการช่วยเหลือหรือไม่ ทั้งนี้ได้นำความคิดเห็นของทีดีอาร์ไอมาประกอบการพิจารณา โดยการช่วยเหลือนี้จะต้องมีความสมน้ำสมเนื้อ
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงถึง 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและจะออกมาตรา 44 ในเร็วๆ นี้นั้น ตนไม่ทราบรายละเอียด แต่มาตรการเหล่านั้นคือแนวทางที่ผู้ประกอบการต่างพอใจ แต่รัฐก็ต้องมาพิจารณาถึงความสมน้ำสมเนื้อ เพื่อประโยชน์ของราชการ ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และประชาชน รวมถึงนักลงทุนที่คิดจะมาลงทุนในทีวีดิจิตอลในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้ คสช.จะไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะต้องไปพิจารณานานท่าไหร่ แต่เชื่อว่าจะพิจารณาไม่นาน
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุม คสช.มีข้อสรุปในหลักการให้ความช่วยเหลือทีวีดิจิทัล 3 ประการ คือ
1. อนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพักชำระหนี้ได้ 3 งวด สำหรับการชำระงวดที่เหลือของปี 2561-2565 (ประมาณ 17,000 ล้านบาท ชำระไปแล้วประมาณ 33,000 ล้านบาท) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีกำลังเงินไว้ดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ในระหว่างการพักชำระหนี้ ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1.50% ต่อปี ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ถูกที่สุดในประเทศไทย หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
2.ให้ กสท.ช่วยจ่ายค่าโครงข่ายที่เปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล ให้แก่ผู้ให้เช่าโครงข่ายซึ่งมี อสมท ช่อง 5 ไทยพีบีเอส แทนทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่า เป็นเวลา 2 ปี ที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ชำระเอง
3.อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ (ขายใบอนุญาตได้) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่สนใจ เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ในอนาคต โดยต้องมีการหารือในรายละเอียดกับ กสทช.เป็นรายๆไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้เข้าประมูล