นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz โดยที่ประชุมฯ อภิปรายในเรื่องนี้อย่างกว้างขว้าง และมีมติดังนี้
1.ให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz เพื่อนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
2.ให้ความเห็นชอบ แนวทางการชี้แจงต่อการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz
3.ให้ความเห็นชอบเอกสารร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz เพื่อใช้ประกอบการประกาศเชิญชวนต่อไป
4.ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินการและงบประมาณเพื่อจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
5.กรณีนี้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อ 42 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555
สาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้
คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลทั้งหมดมีจำนวน 45 MHZ โดยเห็นควรกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน
โดยใช้สูตร N-1 คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้นโดยหากมีการทิ้งใบอนุญาตสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล
นายฐากร กล่าวว่า เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 กรอบเวลาการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้ หลังจากที่ประชุม กสทช. เห็นชอบร่างประกาศฯ ในวันนี้ (25 เมษายา) แล้ว
สำนักงาน กสทช. จะนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งมีการชี้แจงต่อสาธารณะ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย. 2561 และกำหนดเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย. -31 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล
กำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย และกรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง