“หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program)” จัดให้ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มนำเสนอโครงงานกลุ่ม จากโจทย์ที่ได้รับจากทางหลักสูตร เพื่อบรรยายให้กับคณะอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาฯ โดยหลักสูตรนี้จัดขึ้นโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน ภายใต้การสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย รายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group
กลุ่มมังกร: การทำธุรกิจโรงแรมอย่างไรให้ถูกใจนักท่องเที่ยว
กลุ่มแรกที่นำเสนอคือกลุ่มมังกร โดยนำเสนอภายใต้หัวข้อ "การทำธุรกิจโรงแรมอย่างไรให้ถูกใจนักท่องเที่ยว" กลุ่มมังกรกล่าวว่า การทำธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบ การบริหารโรงแรมให้ถูกใจนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงบริการที่เป็นเลิศ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำเลที่ดี ความสะอาด ความปลอดภัย ความเป็นเอกลักษณ์ และความยั่งยืน โรงแรมที่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ จะเป็นตัวเลือกแรกๆ ของนักเดินทางและสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจในระยะยาว
บริการที่เป็นเลิศและการต้อนรับที่อบอุ่นเป็นหัวใจสำคัญของความประทับใจแรกเริ่ม โรงแรมที่มีพนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ ยิ้มแย้ม และใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับแขก ซึ่งรวมถึงการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว
ในยุคดิจิทัล แขกคาดหวังการบริการที่รวดเร็วและทันสมัย โรงแรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น ระบบเช็คอินและเช็คเอาต์อัตโนมัติ การใช้คีย์การ์ดดิจิทัล หรือแม้แต่ AI Chatbot สำหรับช่วยตอบคำถามตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้แขกได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
นักท่องเที่ยวมักมองหาโรงแรมที่เดินทางสะดวก ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หรือสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่าย นอกจากนี้ ราคาห้องพักที่เหมาะสมกับคุณภาพและบริการที่ได้รับก็เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว
ความสะอาดของห้องพักและพื้นที่ส่วนกลางเป็นสิ่งที่แขกให้ความสำคัญมากที่สุด โรงแรมต้องรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยให้ดี รวมถึงการมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด ระบบคีย์การ์ดเฉพาะชั้น และพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแขก
โรงแรมที่สามารถมอบประสบการณ์พิเศษให้กับแขก เช่น กิจกรรมท้องถิ่น อาหารที่สะท้อนวัฒนธรรมของพื้นที่ หรือการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ จะทำให้นักท่องเที่ยวจดจำและกลับมาใช้บริการอีก
นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับแนวทางโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้พลาสติก ระบบประหยัดพลังงาน หรือการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนชุมชน สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงแรม
สรุปคือ ในยุคที่การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจโรงแรมต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของคุณภาพการบริการ เทคโนโลยี และประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจ เพื่อทำให้โรงแรมเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยว
กลุ่มกิเลน: ตุ๊กตาหินโบราณของจีนที่เป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไทย-จีน
หลังจากนั้น กลุ่มกิเลนได้นำเสนอหัวข้อ "ตุ๊กตาหินโบราณของจีนที่เป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน" โดยกลุ่มกิเลนได้จัดทำเป็นละครสั้นประกอบสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของตุ๊กตาหินโบราณ ที่มาของตุ๊กตาหินโบราณจีน ที่สามารถเห็นได้ตามวัดเก่าแก่ของไทย เช่น วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์, วัดอรุณราชวราราม, วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
และได้เข้าสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ คุณฤต นากชื่น ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับตุ๊กตาหินโบราณ ถึงที่มาของคำจีนที่ใช้เรียก “ตุ๊กตาอับเฉา” ที่ออกเสียงตามภาษาจีนกลางว่า “ยาชาง” แปลว่า หินที่ใช้ถ่วงน้ำหนักเรือ ในสำเนียงแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า “เอียบชึง” หรือ “เอียบฉึง” ซึ่งน่าจะมีการออกเสียงเพี้ยนจึงกลายเป็นคำว่าอับเฉาที่คนไทยใช้เรียกกัน ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกนำมาจากประเทศจีน ผ่านการค้าโดยเรือสำเภา เนื่องจากสินค้าที่บรรทุกจากสยามเพื่อนำไปขายที่ประเทศจีน ตอนขาไปมีจำนวนเต็มลำเรือ ทำให้มีน้ำหนักมาก เมื่อขายหมดก็ต้องนำข้าวของจากเมืองจีนกลับมาขายที่ไทย แต่สินค้าที่บรรทุกกลับมานั้นมีน้ำหนักเบากว่าตอนขาไป ทำให้เรือที่มีน้ำหนักเบา หากถูกคลื่นลมแรงพัดจะทำให้เรือโคลงและอาจจะล่มได้ จึงต้องหาเครื่องถ่วงน้ำหนักเรือ ที่มีน้ำหนักในการถ่วงเรือได้ จึงเป็นที่มาของตุ๊กตาหินจีน หรือแผ่นหิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก ได้ถูกนำมาใส่ใต้ท้องเรือไม่ให้โคลง
คุณฤตได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของหลักฐานที่ค้นพบในช่วงรัชกาลที่ 2-3 ที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนเข้ามายังประเทศไทย และช่วงหลังจากนั้น ในรัชกาลที่ 4-5 ยังคงมีความนิยมศิลปะจีนอยู่ในความนิยมของราชสำนักชนชั้นสูง และการขุดค้นพบเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเอกสารที่ทำให้เราเห็นภาพว่าประติมากรรมเหล่านั้นแกะสลักเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องในงาน 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นแล้วถึงได้ว่า “ตุ๊กตาหินโบราณ” เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทย ที่เดินทางมากับเรือสำเภา สะท้อนให้เห็นว่ายุคสมัยนั้นการค้าระหว่างไทย-จีน มีความรุ่งเรืองแค่ไหน จนกลายมาเป็นความสัมพันธ์อย่างยาวนานของ 2 ประเทศ
นอกจากนี้ หินแกะสลักตุ๊กตา จากหินฮ่วยเส่งง้ำ เรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือ Agalmatolite ในภาษาอังกฤษ หินชนิดนี้พบมากในประเทศจีน โดยมีลักษณะพิเศษ สีเขียวอมเทา เมื่อขุดขึ้นมาใหม่ๆ จะมีเนื้ออ่อน มีความร้อน หากกระทบอากาศภายนอกจะขึ้นไอ เหมาะสำหรับแกะสลักเป็นรูปต่างๆ หลังแกะสลักเสร็จทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์จะทำให้เซ็ตตัว และยังมีการนำหินนี้ไปใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำยาเคลือบเครื่องปั้นดินเผาได้ด้วย เนื่องจากมีสารประกอบของเหล็กอยู่มาก โดยจะให้สีน้ำตาลที่สวยงามเป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่าตุ๊กตาหินมีที่มาจากหลากหลายถิ่นฐาน เช่น ตุ๊กตาหินที่มาจากเมืองหนิงปัว จะมีลักษณะเฉพาะคือ เนื้อหินสีเขียว มีจุดดำ และมีการแกะสลักลายที่คมชัด หรือแม้กระทั่ง ตุ๊กตาจีนที่มาจากเมืองฮกเกี้ยน มีการแกะสลักลายแบบมน ไม่คมเท่าแบบที่มาจากเมืองหนิงปัว
กลุ่มหงส์: สงครามทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา - จีน และประเทศไทย
จากนั้น กลุ่มหงส์ได้นำเสนอหัวข้อ "สงครามทางเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกา - จีน ประเทศไทยเกี่ยวอะไร ใครจะอยู่ หรือใครจะไป" ซึ่งในหัวข้อนี้ ทางกลุ่มหงส์ได้เข้าสัมภาษณ์กับทาง อ.เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาศูนย์ Thai PBS World ได้วิเคราะห์ถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้นตั้งแต่ยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีเป้าหมายหลักในการสกัดกั้นการเติบโตของจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของอเมริกา แม้ว่าโจ ไบเดน จะขึ้นดำรงตำแหน่งต่อ แต่ก็ยังคงนโยบายกดดันจีนไว้
มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม มีการถกเถียงว่าการขึ้นภาษีอาจส่งผลให้ราคาสินค้าในอเมริกาแพงขึ้น และทำให้ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นในระยะสั้น แต่ทรัมป์เชื่อว่าการกระตุ้นให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับมาในประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งขึ้น ในขณะเดียวกัน จีนได้ปรับกลยุทธ์โดยขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่น เช่น อาเซียน ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในเรื่องดุลการค้า และจำเป็นต้องหากลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้านี้
และได้เข้าสัมภาษณ์กับทาง อ.ภากร กัทชลี อาจารย์คณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ว่าสงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีนเริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากจีนพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อเมริกาจึงมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการขึ้นกำแพงภาษี เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมามีบทบาท นโยบายอเมริกาต้องมาก่อนถูกผลักดันอย่างหนัก ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่จีน แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
จีนจึงปรับตัวโดยเน้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ขยายอิทธิพลสู่ภูมิภาคอาเซียน อ.ภากรยังให้ความเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ต้องเลือกข้างอย่างชาญฉลาด เพราะไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองประเทศ อาเซียนจึงกลายเป็นพื้นที่ที่จีนต้องการเข้าถึงมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดอเมริกา นอกจากนี้ จีนมีพันธมิตรอย่างรัสเซียและกลุ่ม BRICS ส่วนอเมริกาก็มีญี่ปุ่นและพันธมิตรตะวันตก อนาคตของสงครามการค้าจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของผู้นำและนโยบายของแต่ละประเทศ ไทยจำเป็นต้องใช้จุดแข็งของตนให้เป็นประโยชน์ และรักษาสมดุลระหว่างสองขั้วอำนาจเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ