สถานการณ์สงครามการค้ารอบใหม่ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ร้อนร้อนระอุขึ้นหลังจากวันที่ 2 เม.ย.2568 ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งทรัมป์เรียกว่า “วันปลดแอก” ที่กำหนดภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ในอัตราเท่ากับภาษีที่ประเทศอื่นที่เรียกเก็บจากสินค้าของสหรัฐ
ทั้งนี้การประกาศของทรัมป์ขยายวงกว้างกว่าแผนก่อนหน้านี้ ที่จะให้ความสำคัญกับการเรียกเก็บภาษีกับคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยที่ผ่านมาหลายประเทศในเอเชียทยอยประกาศแผนการรับมือ
1.อินเดีย ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐมากกว่าครึ่ง มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งลดภาษีนำเข้าวิสกี้เบอร์เบิน มอเตอร์ไซค์ และสินค้าอื่นเริ่มเจรจาการค้าทวิภาคี
2.เกาหลีใต้ ร่วมมือทางการสหรัฐเพื่อลดผลกระทบบริษัทรถยนต์และซัพพลายเออร์ของเกาหลีใต้
3.ญี่ปุ่น พิจารณาทุกทางเลือกบนโต๊ะเพื่อรับมือการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25%
4.ไต้หวัน พิจารณาเพิ่มนำเข้าพลังงานและพิจารณาลดภาษีผลิตภัณฑ์จากสหรัฐ
5.เวียดนาม อนุมัติบริการ Starlink รวมทั้งพิจารณาลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐหลายรายการ โดย LNG ลดเหลือ 2% จาก 5% ,
รถยนต์ ลดเหลือ 32% จาก 45%-64% และเอทานอล ลดเหลือ 5% จาก 10%
ขณะที่สหรัฐได้เริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2568 สหรัฐได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมดที่ 10% และต่อมาได้เพิ่มอัตราดังกล่าวเป็น 20% ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2568
ในขณะเดียวกัน จีนตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายประเภท เช่น ภาษีถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว 15% และภาษีน้ำมันดิบจากสหรัฐ 10% ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.68 นอกจากนี้ จีนยังได้กำหนดอัตราภาษีสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐสูงถึง 15% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.เช่นกัน
รวมทั้งสหรัฐได้เก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมที่ทรัมป์เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ก็มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ต้นเดือนนี้ โดยปัจจุบันโลหะทั้งสองชนิดถูกเก็บภาษีในอัตรา 25%
ส่วนการรับมือของไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568 เพื่อเตรียมความพร้อมของไทยในการเจรจาและรับมือกับมาตรการทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นจากสหรัฐ
ไทยเก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐ 11%
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คณะทำงานฯ ทำแผนการเจรจาเชิงรุกร่วมภาครัฐกับภาคเอกชนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐประกาศใช้มาตราการด้านภาษี 4 รูป ประกอบด้วย
1.มาตราการขึ้นภาษีรายประเทศที่ก่อปัญหา เช่น ด้านยาเสพติด การอพยพเข้าเมือง 2.มาตราการขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า 3.ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย 4.ขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ
ทังนี้ การที่สหรัฐขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทย เพราะสหรัฐมีสัดส่วนการค้าการโลก 20% และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยแต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยการที่สหรัฐขึ้นภาษีรอบแรกกระทบไทยแล้ว คือ กลุ่มเหล็กและอลูเนียมที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2568 โดยเหล็กขึ้นจากภาษี 0-12.5% เป็น 25% อะลูมิเนียมจาก 0-6.25.% เป็น 25%
“ไทยได้รับผลกระทบแต่เก็บภาษีคู่แข่งทุกประเทศ จึงไม่กระทบการส่งออกของไทยนัก เพราะส่งออกได้แต่ชะลอลง เนื่องจากเป็นสินค้าที่สหรัฐจำเป็นต้องนำเข้า ส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากเดิม 0-4.9% เป็น 25% ซึ่งจะมีผล 3 เม.ย.นี้”
นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยจับตามี 2-3 รายการ ประกอบด้วย กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ยา ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า โดยปัจจุบันไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐในสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรสูงกว่าสหรัฐ 11% ซึ่งกรณีสหรัฐการเพิ่มภาษีให้เท่ากับไทยเก็บคาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
ไทยเตรียมเจรจาเพิ่มนำเข้า-ลดภาษี
สำหรับแนวทางการเจรจานั้น ที่ผ่านมาคณะทำงานได้เดินทางเพื่อเข้าพบ ส.ส.วุฒิสภา เพื่อฟังความเห็นและข้อเสนอแนะตามขั้นตอนที่สหรัฐเปิดรับความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลงทุนและผู้นำเข้า รวมทั้งไทยชี้แจงข้อมูลในเดือน มี.ค.2568 ส่วนการเข้าพบผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) อยู่ระหว่างประสานงาน หากยูเอสทีอาร์แจ้งให้เข้าพบก็จะเข้าพบทันที
1.ไทยอาจปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ
2.ไทยอาจเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อ และเครื่องใน แอลกอฮอล์ และเครื่องบิน โดยอาจประสานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เช่าหรือซื้อจากสหรัฐแทน ส่วนพลังงานพิจารณาให้กลุ่ม ปตท.นำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว
ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าสหรัฐคงไม่ลดการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ต้องทำทุกมิตินอกเหนือจากการค้า เพราะต้องมองการลงทุน หุ้นส่วนทางพันธมิตร รวมทั้งต้องสร้างเสถียรภาพการค้าเพื่อลดการขาดดุล
3.สนับสนุนให้ไทยไปลงในสหรัฐเพื่อสร้างการจ้างานในสหรัฐมากขึ้น จากปัจจุบันมีการลงทุน 70 บริษัท ใน 20 มลรัฐ มีการจ้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง โดยเน้นในมลรัฐที่นายทรัมป์ให้ความสำคัญ
สหรัฐห่วงหวั่นต่างชาติสวมสินค้าไทย
ทั้งนี้ สหรัฐกังวลการย้ายฐานการผลิตบางประเทศมาไทย ซึ่งทำให้เกิดการสวมสิทธิสินค้าไทยไปสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าดูแล ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิประเทศไทย 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากจีน และยังกังวลมาตราการกีดดันทางการค้าที่ไม่ภาษีของไทย ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานราชการลดเงื่อนไขและอุปสรรค
นอกจากนี้ ไทยเตรียมรับมือผลกระทบและมาตราการเยียวผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยวางไว้ 2 แนวทาง คือ 1.เยียวยาเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบเอสเอ็มอี เช่น ลดดอกเบี้ย เข้าแหล่งเงินทุนมากขึ้น และ 2.ระยะยาวต้องเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้า (FTA) ให้เสร็จโดยเร็ว โดย FTA ไทย-อียู จะเสร็จปี 2567 เพื่อชดเชยการถูกต้อบโต้ภาษีจากสหรัฐ
“เตรียมรับมือและการเจรจาเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มบนพื้นฐานการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐและปกป้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด โดยการเจรจายึดหลักการเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อสร้างสมดุล ซึ่งแผนเจรจาได้เสนอนายกฯ แล้วสุดท้ายนายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจ“ นายวุฒิไกร กล่าว
เหล็กและอะลูมิเนียมกระทบมากสุด
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.เป็นห่วงการที่สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ประเด็นนี้สหรัฐมีการจับตาค่อนข้างมาก อีกทั้งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งนำเข้าก่อนใช้มาตรการภาษี
แต่สิ่งที่สวนทาง คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยลดลง สอดคล้องตัวเลขนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่าอาจนำสินค้าจีนเพื่อใช้สิทธิส่งออกหรือนำวัตถุดิบมาผลิต แต่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 10-20% แต่ใช้วัตถุดิบจากจีนถึง 70-80%
“การนำเข้าจากจีนเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ม.ค.68 เพิ่มถึง 20% โดยเฉพาะเหล็ก ยางรถยนต์ ส.อ.ท.ร่วมกับสมาชิกตั้งทีมติดตามใกล้ชิด พร้อมตั้งแพลตฟอร์ม FTI EYE เพื่อรับแจ้งข้อมูลเข้ามาหากพบเจอพฤติกรรมดังกล่าว และเร่งนำมาแก้ไขให้ทันท่วงที”
เสนอนายกฯพิจารณานำเข้าสินค้ารายกลุ่ม
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไทยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐโดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้ารวมถึงปฏิรูปภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐให้เป็นธรรมและสมดุล
ทั้งนี้การเจรจากับสหรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐคือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง
นอกจากนี้ หอการค้าเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่างๆ ที่จะไม่กระทบต่อคู่ค้าและเกษตรกรภายในประเทศ
1.พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควต้านำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐ นอกฤดูเก็บเกี่ยวจะช่วยให้เกษดรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลง ช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้น ช่วยผู้บริโภคประเภทเนื้อสัตว์ด้วย
2.สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเซลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ
3.สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกฮอล์ (Whisky & Wine)
4.เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุดสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก โดยนโยบายภาษีของสหรัฐจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเปลี่ยนรุนแรง ซึ่งปัจจุบันจีน เกาหลีและญี่ปุ่นได้มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อีกทั้งสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มร่วมมือกับแคนาดาเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
“ถือโอกาสที่ดีที่รัฐบาลไทยต้องเร่งเจรจา FTA โดยเฉพาะไทย-ยุโรป , อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ GDP ไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า1% รวมทั้งส่งออกโตไม่ต่ำกว่า 10%”
“ไทย” ล็อบบี้ภาครัฐ-เอกชนสหรัฐเต็มที่
นางศิริลักษณ์ นิยม รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ไทยให้ความสำคัญกับการค้า การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล, อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ AI และพลังงาน
ขณะเดียวกันไทยยังให้การสนับสนุนการลงทุนทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนไทยในการลงทุนในสหรัฐเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนในสหรัฐ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง ใน 20 มลรัฐ ในอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี อาหารและผลิตภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ โลจิสติกส์
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมนำคณะเอกชนไทยไปร่วมงาน SelectUSA Investment Summit 2025 ในวันที่ 11-14 พ.ค.2568 ณ รัฐแมรีแลนด์ เป็นงานส่งเสริมด้านการลงทุน
ขณะเดียวกันจะมีการร่วมมือกับหอการค้าสหรัฐในการจัดงาน Thailand US Trade and Investment Summit 2025 ในวันที่ 20 พ.ค.2568 ที่กรุงเทพฯ เพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างกัน
“ไทยพร้อมทำงานร่วมกับสหรัฐทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ทำงานอย่างหนักหารือภาครัฐและเอกชนสหรัฐ เพื่อปูทางสู่การเจรจา รวมทั้งได้ส่งแนวทางการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อไทยให้คณะทำงานพิจารณา"
สำหรับไทยกับสหรัฐมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญาและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีประเด็นความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ และยังมีความร่วมมือในการรับมือภัยคุกคามรูปแบบเดิมและใหม่ เช่น ไซเบอร์, อาชญากรรมข้ามชาติ, ยาเสพติด, การหลอกลวงออนไลน์ และภัยพิบัติ รวมถึงการช่วยเหลือจากสหรัฐ ในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุนไทยในการค้นหาผู้สูญหายกรณีเหตุอาคารถล่มจากแผ่นดินไหว
ไทยเร่งเพิ่มนำเข้าพลังงานสหรัฐ
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปี 2567 ไทยนำเข้าน้ำมันดิโตรเลียม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและก๊าซเหลวจากสหรัฐ โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มีปริมาณการนำเข้าสูงถึง 33 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์
“ไทยกับสหรัฐมีความร่วมมือด้านนโยบายพลังงานอย่างใกล้ชิด ในปีที่ผ่านมาตัวเลขการค้าระหว่างไทยและสหรัฐ ไทยมีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซเหลว” นายสมภพ กล่าว
นอกจากนี้ ปี 2565-2567 กลุ่มบริษัท ปตท.ซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐ 60 คาร์โก้ ปริมาณ 1.7 ล้านตัน เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงาน และล่าสุดกลุ่ม ปตท.ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว 15 ปี ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี มูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านราคาระยะยาว
นายสมภพ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ลงทุนพลังงานในสหรัฐรวม 1.2 พันล้านดอลลาร์ อาทิ ปิโตรเคมี แบตเตอรี่และเชื้อเพลิงชีวภาพ และอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อขยายการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพ
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนในสหรัฐอเมริกาในด้านพลังงานเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ โดยครอบคลุมธุรกิจโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน และเชื้อเพลิงชีวภาพ
"ความร่วมมือไทยและสหรัฐในโครงการพัฒนาก๊าซ LNG ร่วมกับรัฐอะแลสกา จะเริ่มการผลิตปี 2028 และส่งออกปี 2031 ซึ่งไทยสนใจหารือรายละเอียดต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ด้านพลังงานของทั้ง 2 ประเทศ”