ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
กรมราง ดันรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง ชูจุดแข็งไทยฮับภูมิภาค
03 เม.ย. 2568

กรมรางฯ เร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง ชูจุดแข็งไทยศูนย์กลางภูมิภาค สร้างโอกาสขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงการศึกษาดูงาน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงประโยชน์ของการขนส่งทางรถไฟในการเชื่อมโยงตามแนวเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง โดยระบุว่า การเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ โดยนครฉงชิ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งของจีนในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI)

โดยกรมการขนส่งทางรางได้เข้าพบบริษัท New Land Sea Corridor Operation (NLS) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีนและประเทศพันธมิตร ภายใต้โครงการ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเส้นทางคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาระเบียงทางบก-ทางทะเลใหม่แห่งฉงชิ่ง (Chongqing New Land Sea Corridor) ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อจีนตะวันตกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้การขนส่งแบบผสมผสานทั้งทางรถไฟ ทางทะเล และทางถนน เพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้า

อย่างไรก็ดี การเยี่ยมชมสถานีรถไฟ Tuanjiecun และลานตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางการขนส่งทางรถไฟจีน-ยุโรป ช่วยให้ได้เข้าใจถึงระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรางข้ามประเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ และเยี่ยมชมศูนย์นิทรรศการการแสดงระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง (Chongqing Inland International Logistics Hub Exhibition Center) ซึ่งเป็นศูนย์นิทรรศการที่จัดแสดงข้อมูลและเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าบางส่วนเริ่มหันมาใช้การขนส่งโดยเส้นทางรถไฟมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้และพลาสติก

โดยสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 37.56 เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก

ขณะที่ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังนครฉงชิ่งผ่านเส้นทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ผลไม้สด หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง

โดยในปี 2566 รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า 430,000 TEU และปัจจุบันขบวนรถไฟจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากถึง 110 เมืองในเอเชียและยุโรป โดยเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เริ่มต้นจากสถานี Tuanjie Village Central Station ผ่าน Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ ไปยังเยอรมนี รวมระยะทาง 10,987 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 14-15 วัน

ทั้งนี้จากการศึกษาดูงานกรมการขนส่งทางราง จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางของไทย และผลักดันนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งของประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
03 เม.ย. 2568
จากสถาปนิกหนุ่ม ..... สู่สายธารเพื่อสังคมคนเขาใหญ่ ปัจจุบันในพื้นที่เขาใหญ่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และด้วยอาณาบริเวณโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งเทือกเขาที่รายล้อมไปทั่ว และยังรวมถึงธารน้ำที่รื่นร่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญไม่ห่างไก...