นางศิริวรรณ พิริยะเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอท ไทย มอลล์ ผู้บริหารเว็บไซต์ ThailandMall.com และ smesiam.com เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) 4 ฉบับ ร่วมกับกลุ่มอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของโลกว่า รู้สึกกังวลจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยในตลาดการค้าออนไลน์ (อีมาร์เกตเพลส) ประมาณ 10% จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 30-50 ราย และอาจมีถึง 5% ที่ต้องล้มหายตายจากหรือต้องขายกิจการให้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ เนื่องจากอาลีบาบาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ มีงบประมาณด้านการตลาดมาก รวมทั้งมีข้อได้เปรียบที่รัฐบาลจีนให้การอุดหนุนด้านการขนส่ง ทำให้มีต้นทุนถูกกว่าไทย
ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลไทยมีแนวทางสนับสนุนเรื่องการลดต้นทุนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดการค้าออนไลน์ เพื่อให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างชาติได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนขนส่งสูงกว่าจีนมาก เช่น หากส่งสินค้าราคา 1,000 บาท ไปสหรัฐฯ ต้องเสียค่าขนส่งประมาณ 1,000 บาท ทำให้ต้องบวกต้นทุนค่าขนส่งเข้าไปในราคาขาย ไทยจึงตั้งราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง
“สินค้าจากจีนที่ขายผ่านอาลีบาบา มีค่าขนส่งถูกมาก บางครั้งก็ฟรีค่าขนส่งหรือเก็บในระดับต่ำ ทำให้จีนได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยก็ต้องมีการปรับตัว โดยการสร้างตลาดให้มีความชัดเจน (นิช มาร์เก็ต) เข้าไปร่วมมือเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการพัฒนาสินค้าอย่างใกล้ชิด และร่วมมือพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ”
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องนี้มองได้หลายมุม ประการแรกถือว่าเป็นเรื่องดี ที่บริษัทขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย แต่อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องการได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย จะมีระบบการป้องกันข้อมูลส่วนตัวหรือไม่ อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งอยากให้รัฐพิจารณาตรงจุดนี้ให้รัดกุมด้วย
“ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี จึงอยากให้รัฐเข้ามาดูแลให้เอสเอ็มอีได้ประโยชน์จริงๆ เพราะจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเปิดประตูการค้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังสามารถเรียนรู้ต่อยอดระบบอีคอมเมิร์ซต่อไป จะไม่ใช่แค่การดูรูปอย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก”