รถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง แนวเส้นทางพาดผ่านไทยเป็นศูนย์กลาง กำลังจะกลายเป็น “รถไฟสายเศรษฐกิจ” สำคัญของโลก ด้วยจุดแข็งที่สามารถเชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชีย และยุโรป เป็นโครงข่ายการขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนไม่สูง เอื้อต่อการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลังเดินทางไปศึกษาดูงานเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง พร้อมทั้งหารือโอกาสสนับสนุนขนส่งทางรางของไทย ร่วมกับบริษัท New Land Sea Corridor Operation (NLS) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีนและประเทศพันธมิตร ภายใต้โครงการ China-Singapore (Chongqing) Demonstration Initiative ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเส้นทางคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศ
โดยจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ พบว่าเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อไปยังตลาดการค้าสำคัญอย่างจีน และยุโรป เนื่องจากเส้นทางรถไฟสายนี้มีแนวเส้นทางผ่านไทยเป็นศูนย์กลาง เริ่มต้นจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุด ผ่านหนองคาย เวียงจันทน์ บ่อเต็น โม่ฮาน คุนหมิง ฉงชิ่ง ซินเจียง อี้หนิง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และเข้าสู่ทวีปยุโรป
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มีการทดลองขนส่งสินค้าจากไทยไปยังยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้แล้ว โดยมีการทดลองขนส่งสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์จากมาบตาพุดไปยังฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าใช้เวลาประมาณ 30 วันในครั้งแรก และลดลงเหลือ 22 วันในครั้งที่สอง และขณะนี้หลายประเทศกำลังร่วมมือในการพัฒนาระบบศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกลดระยะเวลากระบวนการตรวจสินค้าผ่านชายแดน
“วันนี้เราต้องการให้ผู้ประกอบการได้ทราบว่า รถไฟเชื่อมโลกได้เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุนหมิง เป็นเส้นทางรถไฟสายสำคัญที่จะสนับสนุนการค้าและการขนส่ง เพราะเมื่อขนส่งสินค้าไปยังจีนแล้ว สามารถเชื่อมต่อเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และไปยังหลายประเทศในยุโรปได้ ซึ่งเป็นการขนส่งที่ทางรถยนต์ไม่สามารถทำได้ หรือเทียบกับขนส่งทางเรือก็มีต้นทุนด้านราคาที่ถูกกว่า”
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันยอมรับว่าการขนส่งในเส้นทางรถไฟสายนี้ยังใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องศุลกากรระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบสินค้า รวมไปถึงสับเปลี่ยนขบวนรถเมื่อข้ามพรมแดนประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรถไฟของแต่ละประเทศยังมีการใช้ระบบรางที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศอยู่ระหว่างร่วมกันแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางราง
โดยข้อจำกัดที่พบว่าสามารถร่วมกันดำเนินการได้ คือ การตรวจสอบเอกสารศุลกากร ซึ่งมีการหารือจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ เป็นการจัดทำเอกสารภายใต้รูปแบบเดียวกัน หรือ Single Window ซึ่งส่งผลให้กระบวนการศุลกากรสามารถกรอกข้อมูล และตรวจสอบผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดี หากดำเนินการแก้ข้อจำกัดเรื่องนี้ได้ คาดว่าจะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางรางไปได้อีกประมาณครึ่งนึง โดยจะทำให้การขนส่งสินค้าทางรางจากไทยไปยังหลายประเทศในยุโรปที่ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยราว 22 วัน จะลดลงเหลือประมาณ 11 วัน และนับเป็นโครงข่ายการขนส่งระหว่างประเทศที่รวดเร็ว คุ้มค่ามากที่สุด หากเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีต้นทุนไม่สูงแต่ก็พบว่าปัจจุบันต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป
ทั้งนี้ ขร.ประเมินโอกาสและความได้เปรียบทางการขนส่งของไทย นอกจากภูมิประเทศที่อยู่ศูนย์กลางของเส้นทางรถไฟสายนี้ ซึ่งจะสร้างโอกาสในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเชื่อมต่อกันแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศต่างๆ ผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย ผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าผลไม้ที่ปลูกในจีนหรือเวียดนาม ก็สามารถส่งออกสินค้าผ่านรถไฟ ใช้เวลาไม่นาน สามารถควบคุมคุณภาพได้ และมีต้นทุนขนส่งที่ต่ำ
ขณะที่การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 วันนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน โดยสินค้าบางส่วนเริ่มหันมาใช้การขนส่งโดยเส้นทางรถไฟมากขึ้น สะท้อนจากสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-สปป.ลาว ในปี 2564 มีปริมาณการขนส่งเพียง 2,288 ตัน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 46,287 ตันในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 63,676 ตันในปี 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 37.56% เมื่อเทียบกับปี 2566 และเมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีการเติบโตอย่างมาก
โดยหากไทยมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย – จีนแล้วเสร็จ เปิดบริการในปี 2572 จะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการขนส่งทางราง ลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าไปได้อีก จากปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังนครฉงชิ่งผ่านเส้นทางรถไฟใช้เวลาประมาณ 4 วัน ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน