กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยตลาดอาหารเสริมโปรตีนสุขภาพสำหรับสตรีและผู้สูงวัยในชีวิตเติบโตสูง ตามกระแสการรักสุขภาพของกลุ่มสตรีที่รักการออกกำลังกาย และกลุ่ม
ผู้สูงวัยที่ขาดโปรตีน แนะเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะส่งวัตถุดิบป้อน ทั้งข้าวกล้อง เนื้อไก่ และวัตถุดิบอื่นๆ รวมถึงส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้าไปจำหน่าย
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ได้รายงานโอกาสอาหารเสริมโปรตีนสุขภาพสำหรับสตรีและ ผู้สูงวัยในญี่ปุ่น โดยแจ้งข้อมูลว่าตลาดสินค้ากลุ่มนี้กำลังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยกระแสนิยมรักษาสุขภาพทั้งในกลุ่มสตรีที่รักการออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นโยคะ และกลุ่มผู้สูงวัยที่มักจะมีปัญหาได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการของไทยที่ขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น
สำหรับอาหารเสริมโปรตีนเพื่อสุขภาพ ที่กำลังได้รับความนิยม เช่น โปรตีนผลิตจากสัตว์หรือพืช อาหารเสริมโปรตีนจากถั่วเหลืองกับข้าวกล้อง หรืออาหารเสริมโปรตีนจากถั่วลันเตากับข้าว หรือสลัดอกไก่ ซึ่งไทยสามารถที่จะส่งออกวัตถุดิบไปให้กับผู้ผลิตในญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะข้าวกล้อง เนื้อไก่ และวัตถุดิบอื่นๆ หรือจะผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายก็ได้
“กระแสนิยมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะการผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ปลอดสารพิษ เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถนำมาพิจารณาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกของไทยเจาะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น โดยเน้นวัตถุดิบภายในประเทศของไทยที่มีการเพาะปลูกหรือเลี้ยงดูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่มีสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง และเน้นประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ทางสารอาหารต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพยินดีจับจ่ายใช้สอย ซึ่งแม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีความต่อเนื่อง”
ปัจจุบัน ตลาดอาหารเสริมโปรตีนสุขภาพในญี่ปุ่นเริ่มขยายตัวมากขึ้น จากเดิมมีการกระจายสินค้าผ่านช่องทางยิมออกกำลังกาย แต่ขณะนี้ได้ขยายเข้าสู่ตลาดค้าปลีกตามช่องทางต่างๆ แล้ว โดยบริษัท Fuji Keizai ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาดของญี่ปุ่น ได้คาดการมูลค่าตลาดสินค้าอาหารและสุขภาพและยารักษาโรคที่มีวัตถุดิบจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ในปี 2565 อาจมีมูลค่าสูงถึง 2.57 แสนล้านเยน หรือประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับกีฬา มีมูลค่า 14.80 พันล้านเยน หรือประมาณ 4.24 พันล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2563 และกระแสคนรักสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลสถิติการค้า ปี 2560 ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น สูงเป็นอันดับ 3 รองจาก จีน และสหรัฐอเมริกา โดยการค้าระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ปี 2560 มีมูลค่ารวม 1,852,235 ล้านบาท เป็นมูลค่าส่งออกไปยังญี่ปุ่น 754,855 ล้านบาท และนำเข้า 1,097,380 ล้านบาท ซึ่งไทยขาดดุลการค้า 342,525 ล้านบาท และตัวเลขการค้า 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2561 ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น มีมูลค่า 206,328 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และนำเข้า 274,165 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)