นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า แนวโน้มปริมาณจราจรทางอากาศและผู้โดยสารในประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เติบโตอย่างมาก ในปัจจุบันอาเซียนมีการเชื่อมสนามบินนานาชาติในเมืองหลักด้วยกันอยู่แล้ว ทางไทยนำเสนอให้กลุ่มประเทศอาเซียนเชื่อมสนามบินเมืองรองไปยังสนามบินเมืองรอง หรือจากสนามบินเมืองรองไปสนามบินเมืองหลัก
โดยสนามบินนานาชาติของไทยที่เป็นสนามบินหลักได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ต ส่วนสนามบินเมืองรอง 28 แห่งซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของกรมท่าอากาศยาน มีเพียง 1-2 แห่งที่เป็นสนามบินนานชาติ ได้แก่ กระบี่ และ อุดรธานี ขณะที่สนามบินเบตงที่เตรียมจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียมีความสนใจบินเข้ามา นอกเหนือจากที่บินเข้ามาที่สนามบินหาดใหญ่ จ.สงขลา
"กลุ่มอาเซียนส่งเสริมความร่วมมือทำการบินไปยังเมืองรองในกรอบอาเซียนยังไม่เคยพูดกัน แต่ได้มีความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้ทำการบินไปยังเมืองรอง 3 ประเทศนี้"นายอาคม กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ไทยจะนำเสนอการเชื่อมโยงการบินในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ASEAN Senior Transport Offcials Meeting (STROM)) และรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียน (ASEAN Transport Ministers Meeting (ATM)) ภายในปีนี้ ก่อนที่จะเข้าที่ประชุมผู้นำอาเซียนซัมมิต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (The Seamless ASEAN Skies) หลังจากมีนโยบายเปิดเสรีน่านฟ้ากันที่จะทำให้ผู้โดยสารเดินทางภายในอาเซียนได้สะดวกสบายขึ้น
นอกจากนี้ จะเสนอให้มีการตรวจสอบผ่านการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพียงจุดเดียว จากที่ต้องตรวจสอบหลายประเทศหลายจุดในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้จะต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคง ตามกฎขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ หากทำได้ดังนี้จะทำให้อาเซียนเป็น Single Market ขณะเดียวกัน ไทยก็ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ เมืองรองที่โดดเด่นได้แก่ กระบี่ สมุย ระนอง ชุมพร ขอนแก่น อุดรธานี ลำปาง แม่สอด เป็นต้น โดยก.คมนาคมได้ให้กรมท่าอากาศยานปรับปรุงสนามบินภูมิภาคให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ และการขยายรันเวย์เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตในอนาคต สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน การพัฒนา Airport City ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินในอนาคต
นายอาคมยังกล่าวว่า ทางกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ก็มีความสนใจในอาเซียนอย่างมากในการเชื่อมการบิน เพราะทาง EU มองว่า อาเซียนเป็น Single Market ซึ่งมีความเป็นไปได้มีความร่วมมือลักษณะ Block to Block ซึ่งจะต้องมีการเจรจาต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา
"ผมคิดว่า Traffic ในอาเซียจะเติบโตมหาศาล อาเซียนเองมีทั้งสนามบินหลักและสนามบินรองถ้าเรามีการเชื่อมสนามบินกันจากเมืองรองมากขึ้น จะทำให้เมืองรองขยายตัวได้อีก ส่วนสนามบินหลักของเรามี 4 แห่งที่เป็นสนามบินนานาชาติ ภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ ก็แน่นมาก"
รมว.คมนาคม กล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการพัฒนา สายการบิน สนามบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และพัฒนาบุคคลากรธุรกิจการบิน และ Ground service เพราะการบินพลเรือนถ้าจะพัฒนาก็ต้องพัฒนาให้ครบวงจร
ด้านนางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า แนวโน้มจราจรทางอากาศจากการท่องเที่ยวด้วยการเดินทางโดยเครื่องบินเติบโตขึ้น โดยในปี 61 มีจำนวน 1.1 ล้านเที่ยวบินต่อปี และคาดว่าในอีก 10 ปีจะเติบโตเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี และในอีก 15-20 ปีเพิ่มเป็น 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี จึงมีมาตรการส่งเสริมด้วยการคงอัตราค่าบริการจัดจราจรทางอากาศของสนามบินทั่วประเทศถึงปี 64 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในอาเซียนและดึงดูดให้สายการบินต่างๆ ในอาเซียนเข้ามาลงในประเทศไทยมากขึ้น
"เราจึงต้องมีการบริหารจัดการ และสิ่งที่จะทำให้ไทยมีโอกาสเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนจะมีการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้การบินแบบไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศ" นายสาริณีกล่าว
ทั้งนี้ แผน ASEAN ATM Master Plan ของอาเซียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาตลาดการบินภายในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสร้างแผนการดำเนินงานด้าน Air Traffic Management (ATM) ให้เกิดการบริหารการจราจรทางอากาศที่ไร้รอยต่อ ซึ่งหมายถึงมีการประสานรวมกันโดยมีขั้นตอนการดำเนินงานและการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันภายใต้แนวความคิด "Seamless ASEAN Sky"
กล่าวคือเมื่อข้ามพรมแดน ผู้ใช้บริการห้วงอากาศจะได้รับบริการการจราจรทางอากาศที่เป็นรูปแบบเดียวกัน และไม่รู้สึกว่ามีความแตกต่างทั้งระดับและประเภทการให้บริการ หรือมาตรฐานทางด้านความสามารถของระบบสื่อสาร ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน ระบบต่าง ๆ จะเป็นระบบอัตโนมัติและทำงานร่วมกันได้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ทันต่อเวลาและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงานในภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการวางแผนและบริหารจัดการร่วมกันข้ามพรมแดน (cross-border)
รวมถึงการจัดการเส้นทางการจราจรร่วมกัน โดยเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และต้องอาศัยการทำงานในระดับปฏิบัติการในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดที่ติดอยู่กับประเทศของตนเป็นแนวคิดเชิงเครือข่ายของภูมิภาค ทำให้ลดความไม่มีประสิทธิภาพของห้วงอากาศและความคับคั่งของจราจรทางอากาศ นำไปสู่การพัฒนาระดับภูมิภาคที่สอดคล้องกับแผนสากลของโลกต่อไป