คณะกรรมการฯ SEA แจงความคืบหน้าผลการดำเนินงาน พร้อมชี้แจงสาระสำคัญ TOR การศึกษา SEA เร่งหาคำตอบในนโยบายพัฒนาพลังงานภาคใต้ บนพื้นฐานเปิดกว้าง โปร่งใส หวังช่วยรัฐบาลกำหนดนโยบายจัดหาพลังงานให้ภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนยอมรับ โดยวางงบประมาณไว้ที่ 50 ล้านบาท
จากการลงนามของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามคำสั่งกระทรวงพลังงาน 11/2561 ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA) ขึ้นนั้น
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ว่า ได้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเทคโนโลยี ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้ดำเนินการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะปัจจัยการประเมิน SEA ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะต่อผลการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วมฯ กล่าวว่า สำหรับกรอบการศึกษา (TOR) ที่จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษานั้น คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างข้อกำหนดการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ โดยยึดหลักการศึกษา SEA ซึ่งต้องครอบคลุมทุกทางเลือกการพัฒนา สามารถตอบคำถามต่อภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้องและใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานการยอมรับของประชาชน
โดยการศึกษา SEA มีหัวใจสำคัญ คือ การพัฒนาและประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เป็นต้น ผลที่คาดว่าจะได้รับ นอกจากรัฐบาลจะกำหนดนโยบายการพัฒนาและจัดหาพลังงานภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนแล้ว กระทรวงพลังงานจะสามารถปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอีกด้วย
ด้านกระบวนการดำเนินการศึกษา กระทรวงพลังงานจะเผยแพร่ข้อกำหนดการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ซึ่งนำไปสู่การ เปิดกว้างต่อทุกกลุ่มที่สนใจในการจัดทำข้อเสนอโครงการ ทั้งนี้ในส่วนระยะเวลาการดำเนินงานนั้น กำหนดให้มีการศึกษาภายในระยะเวลา 9 เดือน โดยจะใช้งบประมาณประมาณ 50 ล้านบาท โดยในระยะ 5 เดือนแรกจะต้องนำเสนอผลการศึกษา ถึงความเป็นไปได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ภาคใต้ว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากจะมีพื้นที่ใดบ้างที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตลอดจนผลการวิเคราะห์ทางเลือกอื่นๆ ในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ ในกรณีที่หากไม่มีพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ต่อไป