วันที่ 30 เม.ย. 2568 เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสือผ่าน นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน โดยขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ถือครองหุ้นในบริษัทเอกชน และดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทเอกชน โดยมิได้แจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี และมิได้โอนหุ้นภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งดังกล่าว ส่อเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 187 ประกอบมาตรา 5 มาตรา 98 (3) มาตรา 160 (4) (5) (6) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 จึงยื่นเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไต่สวน และตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมกับขอให้สั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2568 นายสนธิญา สวัสดี ได้ไปยื่นร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนตรวจสอบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน ในประเด็นการถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชน และนั่งเป็นกรรมการบริหาร หลังจาก นายพีระพันธุ์ รับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566 โดยกล่าวหาว่า นายพีระพันธุ์ เป็นกรรมการบริหาร และมีส่วนการพิจารณาหรือตัดสินใจ มีหุ้นส่วน ตั้งแต่กว่า 70% 77% และ 10% ของ 3 บริษัท หากเป็นเช่นนี้ กระบวนการจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170(4) มาตรา 160(5) และมาตรา 179(9) เพราะกรณีการเป็นกรรมการบริหารในบริษัทเอกชน หรือ ถือหุ้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร ต้องลาออกก่อนดำรงตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งหลังจากที่ตรวจสอบ ขณะนี้บางบริษัทยังมีชื่อ นายพีระพันธุ์ ดำรงตำแหน่งอยู่ “หาก ป.ป.ช.ตรวจสอบและวินิจฉัยอย่างชัดเจน ว่า นายพีระพันธุ์ ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัทเอกชนเหล่านั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ที่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 219” นายสนธิญา ระบุ