ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ศ.ไป๋ ฉุน บรรยายพิเศษ ปีกสองข้าง: พระพุทธศาสนาในแง่วัฒนธรรม
01 พ.ค. 2568


"ศ.ไป๋ ฉุน" บรรยายพิเศษ “ปีกสองข้าง: พระพุทธศาสนาในแง่วัฒนธรรม” เน้นความสมดุลระหว่างมหายานและเถรวาท

ปักกิ่ง, 1 พฤษภาคม 2568 – เวลา 14.00 น.  ศาสตราจารย์ไป๋ ฉุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (เป่ยว่าย) บรรยายในหัวข้อ “ปีกสองข้าง: พระพุทธศาสนาในแง่วัฒนธรรม”แก่ผู้เข้าร่วมอบรม ในโครงการอบรมพัฒนาทักษะผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนไทย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน (สบทจ.1) โดยเริ่มต้นด้วยการฉายคลิปวิดีโอการแสดงชุดระบำที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหลงเหมิน เมืองลั่วหยาง  ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือพระพุทธรูปที่มีพระพักต์พระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดิหญิงองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน

ศ.ไป๋ ฉุน ชี้ว่าการแสดงดังกล่าวไม่ได้เป็นการลบหลู่ศาสนา แต่สะท้อนถึงความต้องการของพุทธศาสนิกชนที่ต้องการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการสร้างสถูป หรือพระพุทธรูปในสมัยโบราณ ทั้งยังเน้นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถนำเสนอศิลปวัฒนธรรมโบราณให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวคิด “ปีกสองข้าง: พระพุทธศาสนาในแง่วัฒนธรรม” โดยอ้างวาทะของ"หลวงวิจิตรวาทการ" ซึ่งเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายานเป็น “ปีกสองข้าง” ที่ช่วยให้ศาสนาดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง พร้อมยกตัวอย่างความผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน เช่น ความศรัทธาต่อเจ้าแม่กวนอิม ที่มีรากจากมหายาน ขณะที่เถรวาทเน้นแนวปฏิบัติเคร่งครัดมากกว่า

ศ.ไป๋ ฉุน ยังได้อธิบายถึงแนวคิด “สามลัทธิกลมเกลียว” คือ ขงจื้อ เต๋า และพุทธ โดยเทียบแนวคิดเหล่านี้กับธุรกิจร้านค้าสมัยก่อน ได้แก่ "ขงจื้อ"เปรียบเหมือนร้านข้าว เป็นหลักฐานมั่นคงของสังคมที่ขาดไม่ได้ "เต๋า"เปรียบเหมือนร้านขายยา ที่เน้นความสมดุลตามธรรมชาติ การปล่อยวาง และ"พุทธ" เปรียบเหมือนร้านของชำ ความกว้างขวางมีทุกสิ่งทุกอย่าง แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจและความเชื่อทางวัฒนธรรมของจีนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนถึงแนวคิดศาสนาและปรัชญาเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันและธุรกิจของประชาชนอีกด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่าแนวคิดทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวจีนในหลากหลายมิติ

ศ.ไป๋ ฉุน ยังได้เผยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ถึงจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พุทธศาสนาในจีน ช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก โดยพระเจ้าอี้หมิงตี้ทรงนิมิตเห็นเทพเจ้าทองคำ และส่งคณะทูตไปอัญเชิญ “คัมภีร์ 42 บท” จากดินแดนต้าเยว่จื้อ (ปัจจุบันคืออัฟกานิสถานตอนเหนือ) พร้อมด้วยพระสงฆ์อินเดีย เช่น พระกาชยปมาตังคะ และพระธรรมรัตน์ ซึ่งมีบทบาทในการแปลพระไตรปิฎกสู่ภาษาจีน

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์จีน เช่น พระกุมารชีพ   (ค.ศ. 344–413) นักแปลผู้ทรงคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในจีน ผู้แปลคัมภีร์สำคัญหลายฉบับ เช่น “สัทธรรมปุนฑรีกสูตร” และ “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “สามผู้ยิ่งใหญ่แห่งการแปล” ร่วมกับพระธรรมรัตน์และพระถังซัมจั๋ง ผู้เดินทางสู่ชมพูทวีปและนำพระธรรมกลับมาสู่จีน ผ่านบันทึก “จดหมายเหตุบันทึกการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกแห่งราชวงศ์ถัง”

ช่วงท้าย ศ.ไป๋ ฉุน ยังได้นำเสนอหลักพื้นฐานแสดงจุดร่วมของพุทธศาสนา2นิกาย ได้แก่ การเคารพพระพุทธเจ้า การยึดมั่นในอริยสัจ 4 และแนวทางการปฏิบัติสู่ความหลุดพ้น แม้มีรายละเอียดแตกต่างกันในเชิงพิธีกรรมหรือการปฏิบัติ แต่เป้าหมายหลักยังคงเหมือนกัน คือการ ร่วมยึดมั่นในแก่นแท้ ของพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้เป็นแนวทางปฏิบัติสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การบรรยายครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามเชื่อมโยงความแตกต่างสู่ความเข้าใจและปรองดองในสังคมพุทธทั่วโลก

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...