ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในงานสัมมนา “START UP จับต้องได้ : เจาะลึกธุรกิจ สร้างสังคมแห่งสตาร์ทอัพ” จัดโดย positioningmag.com และองค์กรพันธมิตร ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ในการประชุมร่วมกับสถาบันระดับโลก Global Entrepreneurship Network (GEN) ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพของไทยไม่ได้ล้าหลัง โดยเริ่มทำได้ดีพอสมสมควรและมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ต้องดูเรื่องของ “ดิจิทัล ไทยแลนด์” เพื่อเป็นโจทย์ให้ “สตาร์ทอัพ” ของไทยไปคิดต่อ และทำให้เกิดธุรกิจได้จริง
โดยด้านดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ ปัจจุบันคนไทยใช้มือถือเกิน 150% ไปแล้ว เฉลี่ย 1.5 เครื่องต่อคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ดีมาก ส่วนอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อยู่ที่ 70% แล้ว จาก 2-3 ปีที่แล้วแค่ 30% เท่านั้น ถือว่าเติบโตเร็วมาก สำหรับการเข้าถึงบรอดแบนด์ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการนำเนื้อหาไปสู่ประชาชน การจะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ หลักการ คือ ต้องมีให้ใช้ ต้องเข้าถึงได้ และสามารถจ่ายได้
จากข้อมูลในประเทศไทยมีหมู่บ้าน อีก 50-60% ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เพราะในทางเศรษฐกิจถือว่าไม่คุ้ม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงมีโครงการเน็ตประชารัฐ เพื่อมาอุดช่องว่าง วางเครือข่ายไปแล้ว 24,700 หมู่บ้าน ส่วนการเชื่อมต่อไปยังครัวเรือนก็เปิดให้เอกชนเข้ามาให้บริการในราคาที่ถูกลง ที่เหลือจำนวนอีก 25% จะสร้างบรอดแบนด์ให้ครบ
เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ต้องต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านโครงการ Point of Sale หรือ e-Commerce ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ทางไปรษณีย์ไทยขับเคลื่อน วันนี้กำลังทดสอบระบบไปแล้ว นอกจากนี้ มีโครงการที่กระทรวงดีอีได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลังทำโครงการ Digital ID เพื่อเป็นแพลตฟอร์ม หรือการแสดงตัวตนในดิจิทัล ไอดี เพื่อให้มีการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งการค้า เศรษฐกิจ การเงิน เป็นไปอย่างลื่นไหล และมีประสิทธิภาพ โดยตอนนี้ได้เริ่มสร้าง platform สำหรับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงโอกาสการพัฒนา ทักษะด้านดิจิทัลของตนเอง
ในส่วนของ “การพัฒนาคน” สำคัญมาก ถือเป็นเสาหลักของการพัฒนาดิจิทัล ต้องสร้างความเข้มแข็งของคนให้มีความรู้ความสามารถ และคุณภาพที่ตอบโจทย์สำหรับงาน โดยร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและเอกชน เพื่อมีเป้าหมายในการสร้างคนที่ชัดเจนว่าจะสร้างบุคลากรในคลัสเตอร์ไหน เพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันยุค ทันสมัย ซึ่งปีนี้มีเป้าจะสร้างคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลให้ได้ 1 ล้านคน
ด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ นอกจากจะมีกฎหมายมารองรับแล้ว จะมีการตั้งศูนย์ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้แห่งชาติ เวลานี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ได้ข้อสรุปในการหารือระดับเจ้าหน้าที่แล้ว ขั้นต่อไปจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
สุดท้ายเรื่องที่จะทำคือ Digital Government มีเรื่องให้ทำหลากหลาย แต่ในปีนี้จะเน้นในรื่องของ BIG DATA เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประสานไปทั้ง 19 กระทรวงเพื่อที่จะเซตระบบขึ้นมา ในส่วนนี้ สตาร์ทอัพสามารถเข้ามาได้เยอะมากพอสมควร บางส่วนสามารถเปิดเผยเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ แต่บางส่วนที่เปิดเผยไม่ได้ก็จะต้องปกป้องไว้ให้ดี
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อไปว่า หากพูดถึง Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยในช่วง 2-3 ปีนี้ นับว่าสตาร์ทอัพไทยที่ใช้เวลาก่อสร้างร่างตัวภายในระยะเวลาเพียงเท่านี้ถือว่าก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร โดยมีสตาร์ทอัพที่มีจุดเน้นในหลายๆ อย่าง ทั้งนี้ จากข้อมูลจะพบว่าตั้งแต่ปี 2555 จนถึง ปี 2560 สังคมแห่งสตาร์ทอัพของไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมในปี 2555 ประเทศไทยมี Startup ที่ได้รับเงินทุนเพียงแค่ 3 รายเท่านั้น มี Venter Capital หรือ VC แค่ 1-2 ราย แต่ในปัจจุบันเรามีสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนถึง 90 ราย
มี VC ที่ลงทุนในประเทศไทยแล้วถึง 96 ราย จากสตาร์ทอัพที่มีในประเทศไทยประมาณ 600 ราย และมี Accelerator ถึง 8 รายจากเดิมที่มีเพียงรายเดียวในปี 2555 และจนถึงปัจจุบัน มูลค่าเงินลงทุนจาก VC ที่ลงทุนไปแล้วในประเทศไทย เป็นอย่างน้อย 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลในปี 2560
แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งอิสราเอลมีสตาร์ทอัพประมาณ 4,500 ราย มีความหนาแน่นของสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากร (Startup Density) อยู่ที่ 1 ต่อประชากร 1,900 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามี Startup ประมาณ 140,000 ราย มี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 2,300 และสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพประมาณ 542,000 ราย มี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 2,800 สำหรับประเทศไทยนั้น เรามี Startup ประมาณ 600 ราย และมี Startup Density อยู่ที่ 1 ต่อ 113,000
“ผมมองว่าประเทศไทยไม่ได้สู้ประเทศอื่นไม่ได้ แต่กลับมองเห็นช่องวางที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพ และการเป็น Hub ของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asia ได้ ประเทศไทยมีปัจจัยหลายด้านที่เหมาะสมจะเป็น Hub ของภูมิภาค”
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาของทีมวิจัย Google และ Temasek ที่เคยทําการศึกษาและเก็บข้อมูลร่วมกัน ในหัวข้อธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และคาดการณ์ว่าจะก่อเกิดเงินสะพัดในธุรกิจออนไลน์สูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025
ธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคนี้ ยังเติบโตแบบแทบจะทุกหมวดหมู่ธุรกิจ อาทิ หมวดท่องเที่ยว ได้แก่ เว็บไซต์จองเที่ยวบิน, สถานที่ท่องเที่ยว, โรงแรม และร้านอาหาร มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 26,600 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มธุรกิจสื่อ จะมีเงินสะพัดถึง 6,900 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงหมวด e-Commerce จะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 100% ภายใน 2 ปี โดยมีการซื้อขายสูงถึง 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐ