ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
กบร. ออกข้อบังคับใหม่คุ้มครองผู้โดยสารเที่ยวบินตปท.เริ่ม 20 พ.ค 2568
12 พ.ค. 2568

รายงานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยว่าคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้ออกข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไปโดยข้อบังคับใหม่นี้ได้เน้นการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ประสบปัญหาเที่ยวบินล่าช้าหรือถูกยกเลิกโดยมิได้แจ้งล่วงหน้า และผู้โดยสารได้เดินทางมาถึงสนามบินแล้ว

สำหรับกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้า ข้อบังคับใหม่ได้กำหนดให้สายการบินต้องดำเนินการดังนี้หากเที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินจะต้องจัดอาหารและเครื่องดื่ม หรือคูปองแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่ม และจัดอุปกรณ์สื่อสารให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

หากล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง นอกจากสิ่งที่กล่าวข้างต้น สายการบินต้องชดเชยเป็นเงินสด 1,500 บาท หรือเสนอทางเลือกอื่นที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า เช่น วงเงินเดินทาง บัตรกำนัล หรือไมล์สะสม ภายใน 14 วัน พร้อมจัดที่พักและการรับส่งหากต้องพักค้างคืน หากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกในการรับเงินค่าโดยสารคืน หรือทางเลือกอื่นทดแทนทันที ทั้งนี้ หากล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง นอกจากสิ่งที่กล่าวข้างต้น สายการบินต้องเสนอทางเลือกให้ผู้โดยสารพิจารณาทันทีระหว่าง

1.รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายใน 14 วัน (2,000 บาท สำหรับเที่ยวบินไม่เกิน 1,500 กม., 3,500 บาท สำหรับ 1,500-3,500 กม., และ 4,500 บาท สำหรับเกิน 3,500 กม.) หรือ

2.รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเดินทาง บัตรกำนัล ไมล์สะสม หรือสิ่งอื่นทดแทนที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเงินสด ภายใน 14 วัน พร้อมจัดที่พักและการรับส่งหากต้องพักค้างคืน และหากผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินต้องเสนอทางเลือกในการรับเงินค่าโดยสารคืนหรือทางเลือกอื่นทดแทน หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน หรือจัดหาการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสม

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เผยว่า ในกรณีที่เที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก หรือปฏิเสธการรับขน สายการบินจะต้องชดเชยผู้โดยสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 10 ชั่วโมง ยกเว้นบางกรณี เช่น แจ้งยกเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือแจ้งน้อยกว่านั้นแต่สามารถเปลี่ยนเที่ยวบินให้ผู้โดยสารเดินทางถึงจุดหมายได้เร็วหรือช้ากว่าเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง หรือเหตุยกเลิกเกิดจากเหตุสุดวิสัย

สำหรับเที่ยวบินในประเทศ ข้อบังคับใหม่ได้เพิ่มค่าชดเชยกรณีล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง จากเดิม 600 บาท เป็น 1,200 บาท และกรณียกเลิกเที่ยวบิน จากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,500 บาท โดยสายการบินสามารถเสนอการชดเชยในรูปแบบอื่นทดแทนได้เช่นกัน ทั้งนี้ จะไม่มีการชดเชยหากเกิดจากเหตุสุดวิสัย

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เผยว่า นอกจากนี้ข้อบังคับใหม่ยังให้ความคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะอยู่บนเครื่องบิน (Tarmac Delay) โดยสายการบินต้องปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดียวกับเที่ยวบินล่าช้าบนภาคพื้นดิน จัดการเรื่องการไหลเวียนอากาศ อุณหภูมิ ห้องน้ำ และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ หากล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมงและยังไม่มีกำหนดขึ้นบิน ต้องอนุญาตให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบิน เว้นแต่เหตุผลด้านความปลอดภัยหรือการจัดการจราจรทางอากาศ

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อบังคับใหม่นี้แก่สายการบินและผู้โดยสาร เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
21 เม.ย. 2568
“กีฬา ... กีฬา ... เป็นยาวิเศษ” ส่วนหนึ่งของคำประพันธ์ที่นำมาร้องกันในสมัยก่อน หรืออาจจะร่วมถึงในยุคสมัยนี้ด้วยก็คงไม่ผิด และแน่นอนความหมายของนั้นก็คือ การเล่นกีฬา การออกกำลังกายนั้น มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเปรียบเสมือนเกราะป้องกันโรคภัยของเรานั่นเอ...